กรมอนามัย เผยผลโพลหลังปีใหม่ พบมาตรการ ‘งดโดยสารขนส่งสาธารณะ’ ยังทำได้ยาก แนะผู้ประกอบการคุมเข้มโควิด-19

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย พร้อมด้วย นางนภพรรณ นันทพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม และ นายสมศักดิ์ ศิริวนารังสรรค์ ผู้อำนวยการสำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ แถลงข่าว “หลังปีใหม่ คนไทย และสถานประกอบการ หย่อนมาตรการ หรือเข้มข้นขึ้น”

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า นับตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2565 เป็นต้นมา ทางศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้ปรับระดับความเข้มข้นของ มาตรการป้องกันโควิด-19 ในพื้นที่ทั่วประเทศ เป็นพื้นที่ควบคุม สีส้ม 44 จังหวัด พื้นที่เฝ้าระวังสูง สีเหลือง 25 จังหวัด และพื้นที่ท่องเที่ยว สีฟ้า 8 จังหวัดนำร่อง แม้ระดับความเข้มของมาตรการมีการปรับตามสถานการณ์ แต่อย่างไรก็ตาม ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวยังคงต้องป้องกันตนเองขั้นสูงสุด ขณะเดียวกันสถานประกอบการทุกประเภท จำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยองค์กร COVID Free Setting อย่างเคร่งครัด เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ใช้บริการ ลดความเสี่ยงโควิด ที่ยังคงพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะหลังปีใหม่ ประชาชนส่วนหนึ่งยังคงมีความรู้สึกวิตกกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งข้อมูลจากการสำรวจอนามัยโพล ในช่วงมกราคม 2565 ที่ผ่านมา จากผู้ตอบแบบสำรวจกว่า 27,000 คน พบว่า ประชาชนเกือบครึ่งหนึ่งคิดว่า สถานการณ์จะรุนแรงกว่าเดิม โดยในกลุ่มนี้ ร้อยละ 64 เห็นว่าจะมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ร้อยละ 16 เห็นว่าจะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตมากขึ้น เช่น ต้อง Work From Home เรียน Online และกว่าร้อยละ 13 มีผลกระทบคือ รายได้ลดลง ตกงาน ขณะที่ประชาชนผู้ตอบแบบสอบถามโดยรวม 3 ใน 10 คน รู้สึกว่าสถานการณ์หลังปีใหม่จะรุนแรงน้อยกว่าเดิม เนื่องมาจากการได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์แล้ว และในกลุ่มนี้เกือบร้อยละ 35 เชื่อมั่นในการปฏิบัติตนเองเพื่อป้องกันต่อเนื่อง เช่น การสวมหน้ากาก หรือการล้างมือ เป็นต้น

“สำหรับมาตรการที่ประชาชนคิดว่าสามารถปฏิบัติตามได้ จากผลการสำรวจอนามัยโพล พบว่า มาตรการ ที่ประชาชนมากกว่า 7 ใน 10 คน คิดว่าสามารถปฏิบัติตามได้ดี คือ การงดเข้าสถานที่เสี่ยงทุกประเภท ร้อยละ 76.2 และ งดร่วมกิจกรรมรวมกลุ่ม ร้อยละ 71.7 ส่วนมาตรการที่ยังทำได้ยาก คือ งดโดยสารขนส่งสาธารณะทุกประเภท ร้อยละ 43.9 และงดไปต่างประเทศ ร้อยละ 48 โดยในส่วนของขนส่งสาธารณะ อาจเป็นความจำเป็นในการทำกิจกรรมเหล่านี้ ดังนั้น เพื่อให้ประชาชน ผู้ที่จำเป็นต้องใช้บริการขนส่งสาธารณะ มั่นใจต่อการรับบริการ ที่จะลดความเสี่ยงจากโควิด-19 ผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะ จึงต้องสร้างความปลอดภัยตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ส่วนผู้ใช้บริการก็ต้องป้องกันตนเองขึ้นสูงสุดด้วยเช่นเดียวกัน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ทางด้าน นางนภพรรณ นันทพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กิจการขนส่งสาธารณะ เป็นกิจกรรมที่ประชาชนหลีกเลี่ยงได้ยากที่จะเลี่ยงการใช้บริการ ปัจจัยเสี่ยง คือ ผิวสัมผัสร่วม เช่น ราวจับลูกบิด โต๊ะ เก้าอี้ ความแออัดในเวลาเร่งด่วน ระบบอากาศภายในรถ และระยะเวลาที่ใช้บริการ ซึ่งกรมอนามัยได้กำหนดมาตรการ COVID Free Setting ทั้ง 3 ด้าน คือ สิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการ และ ผู้โดยสาร โดยขอให้ปฏิบัติตามดังนี้

1) หากผู้โดยสาร มีความเสี่ยง เช่น ป่วยเป็นไข้ แนะนำให้งดหรือเลี่ยงเดินทาง

2) ต้องมีอุปกรณ์ส่วนตัว เช่น หน้ากากผ้า หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์

3) เว้นระยะห่าง

4) เลี่ยง งด คุยกัน

5) ผู้มีโรคประจำตัว ต้องระมัดระวังตนเอง

6) ส่วนพนักงานที่ให้บริการ หากมีอาการป่วยให้เลี่ยงปฏิบัติงาน และเมื่อไปทำงานต้องประเมินความเสี่ยงตนเองอยู่เสมอ

7) บริเวณจุดสัมผัสร่วม ต้องทำความสะอาดก่อนและหลังการให้บริการ

8) ต้องได้รับวัคซีน ตามที่ราชการกำหนด ทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ

สำหรับการจัดการสถานีขนส่งประเภทราง และรถปรับอากาศที่ให้บริการทางไกล ต้องมีการเปิดระบายอากาศ เช่น รถไฟฟ้า เมื่อถึงปลายทางให้เปิดระบายอากาศ รวมถึงรถตู้ เมื่อพักรถ ควรมีการระบายอากาศ ทำความสะอาด ส่วนรถโดยสาร ปรับอากาศทางไกล ให้แวะพัก 2-3 ชั่วโมง เพื่อระบายอากาศ มีการทำความสะอาดภายในรถบ่อยครั้ง รถทางไกลที่มีห้องน้ำ ต้องดูแลทำความสะอาดเป็นระยะ งดเลี่ยงการเสิร์ฟอาหาร อาจจะเปลี่ยนเป็นแวะจุดพักให้ผู้โดยสารทานอาหาร ส่วนใหญ่ รถทางไกลจะมีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น เครื่องนอน หมอน ผ้าห่ม จึงต้องมีการเปลี่ยนปลอกหมอน นำเครื่องนอน ซักทุกครั้งหลังให้บริการ รวบรวมขยะใส่ถุง ปิดให้มิดชิด และนำไปกำจัดอย่างถูกต้องด้วย

ทางด้าน นายสมศักดิ์ ศิริวนารังสรรค์ ผู้อำนวยการสำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กล่าวว่า จากข้อมูลอนามัยโพล พบว่า การป้องกันที่ร้านอาหารทำได้ดี คือ การทำความสะอาดโต๊ะ รองลงมาคือ การมีเจลแอลกอฮอล์ไว้บริการ และการเว้นระยะห่าง ส่วนสิ่งที่ร้านอาหารควรปรับปรุง คือ

1) การติดประกาศ COVID Free Setting และ Thai Stop COVID 2 Plus

2) พนักงานรวมกลุ่มกินอาหารร่วมกัน

3) การจำกัดเวลาใช้บริการร้านอาหารไม่เกิน 2 ชั่วโมง ให้ใช้เวลาในร้านอาหารให้สั้นที่สุด

ดังนั้น จึงขอเน้นย้ำให้ผู้ประกอบการ ร้านค้า ประเมินผ่านระบบ Thai Stop COVID 2 Plus และปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting อย่างเคร่งครัด โดยให้เน้นการทำความสะอาด จุดสัมผัสร่วมเช่น โต๊ะ เก้าอี้ และการเว้นระยะห่างในร้านอาหารระหว่าง ผู้ให้บริการ และผู้รับบริการ รวมทั้งการระบายอากาศ โดยเฉพาะร้านอาหารระบบแอร์ จะมีความเสี่ยงมากกว่าร้านที่เปิดโล่ง สำหรับพนักงานผู้ให้บริการ เน้นสร้างภูมิคุ้มกันการฉีดวัคซีน การตรวจ ATK เพื่อไม่ให้การแพร่ระบาด และประเมิน “ไทยเซฟไทย” โดยพนักงานต้องตรวจคัดกรองเป็นประจำ เพื่อเป็นการป้องกันตนเอง ส่วนผู้ใช้บริการให้ป้องกันตนเองขั้นสูงสุดตามหลัก UP (Universal Prevention)
***
กรมอนามัย / 2 กุมภาพันธ์ 2565