สช.ชักชวนภาคีเครือข่าย-ตัวแทนเขตสุขภาพเพื่อประชาชน 13 เขต หารือ-ทบทวนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนทำงาน-นโยบายสาธารณะ ด้าน “นพ.ประทีป” ระบุ พ.ศ. 2565-2566 ปีแห่งการสร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพ พร้อมจับตาการถ่ายโอน รพ.สต. ไปยัง อบจ.
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยในการประชุมหารือการขับเคลื่อนงานเขตสุขภาพเพื่อประชาชนเขตพื้นที่ 1-13 เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2565 ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ตอนหนึ่งว่า สช.มีทิศทางการพัฒนานโยบายสาธารณะระดับชาติผ่านเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 15 และ 16 ซึ่งจะเกิดขึ้นช่วงปลายปี 2565-2566 โดยจะเน้นเรื่องการพัฒนานโยบายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพ
อย่างไรก็ดี ในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้า มีหลายประเด็นที่ระดับพื้นที่และส่วนกลางสามารถขับเคลื่อนร่วมกันได้ เช่น สถานการณ์โควิด-19 และการรับมือโรคระบาดในอนาคต การถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ฯลฯ ซึ่งส่วนกลางและพื้นที่จำเป็นต้องติดตามและใช้ประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีให้แก่ประชาชน
สำหรับประเด็นเฉพาะที่สำคัญในปี 2565 คือการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งมีเป้าหมายที่ต้องการฟื้นฟูประเทศไทยจากวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ฉะนั้นหากคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) ทั้ง 13 เขต รวมถึงกลไกในพื้นที่มีส่วนร่วมในการจัดทำแผนพัฒนาฯ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบสุขภาพหรือแผนใหญ่ในแต่ละจังหวัด ก็จะมีส่วนช่วยในการฟื้นฟูประเทศไทยได้
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องระบบรองรับสังคมผู้สูงวัย-ผู้สูงอายุ ตามมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นเมื่อปีที่ผ่านมา รวมไปถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม-การท่องเที่ยวของระดับส่วนกลางและในพื้นที่ ความมั่นคงทางอาหารหรืออาหารปลอดภัย และเรื่องความปลอดภัยของเด็กและเยาวชนต่อสื่อดิจิทัล
“ขณะนี้ สช. อยู่ในช่วงของการจัดทำธรรมนูญว่าระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ที่มีทิศทางในการสร้างความเป็นธรรมไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังในการฟื้นฟูประเทศไทยให้สอดคล้องกับวิกฤตต่างๆ” นพ.ประทีป ระบุ
นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การทำงานของ สธ. ทั้งระดับสำนักงานปลัด เขต-จังหวัด-อำเภอ-ตำบล จะต้องทำงานควบคู่กับไกด์ไลน์ของ สธ. และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่จะมีการจัดเม็ดเงินลงมาสนับสนุนการทำงาน ส่วนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก็จะเป็นส่วนเติมเต็มการทำงานในภาพรวมของระบบ สุขภาพ ขณะที่ สช. ก็จะทำมาตรการต่างๆ จากล่างขึ้นบนผ่านเครื่องมือภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 เช่น ธรรมนูญพื้นที่
วันเดียวกัน ที่ประชุม กขป. ทั้ง 13 เขต ยังได้ร่วมกันหารือและวิเคราะห์สถานการณ์ด้านสุขภาพที่สำคัญ ตลอดจนทบทวนยุทธศาสตร์การทำงานที่ผ่านมา และวางแผนต่อยอดการขับเคลื่อนจากประเด็นที่เคยดำเนินการไว้ เช่น การรับมือกับภาวะวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 การเสริมสร้างความเข้มแข็งระบบสุขภาพชุมชน การดูแลสุขภาพพระสงฆ์-ผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบาง อุบัติเหตุบนท้องถนน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การขับเคลื่อนอาหารปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหาร เป็นต้น
สำหรับทิศทางในการดำเนินหลักๆ ของ กขป. ทั้ง 13 เขต จะมีการจัดประชุมคณะทำงาน โดยให้ความสำคัญกับวิชาการเป็นสำคัญ พร้อมทั้งจัดประชุมอบรม-เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Side Event) จัดตั้งคณะทำงานแบบบูรณาการเพื่อสร้างกลไกความเข็มแข็งและเกิดความเข้าใจร่วมกัน