กระทรวงพาณิชย์ แจงบทสรุปการประชุมระดับปลัดกระทรวงเศรษฐกิจของอาเซียน (HLTF-EI) ครั้งที่ 35 ชี้อาเซียนเห็นชอบประเด็นเศรษฐกิจ 3 ด้าน 13 ประเด็น ตามที่ไทยเสนอ พร้อมสวมบทประธานจี้อาเซียนกางแผนรับมือยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 ตลอดจนเร่งคณะทำงานศึกษาผลกระทบจากประเด็นที่ประเทศคู่ค้าอาเซียนเสนอ และตอกย้ำจุดยืนให้อาเซียนร่วมแสดงบทบาทกระตุ้นให้ WTO ตระหนักถึงการเป็นองค์กรที่รักษาความเป็นธรรม และส่งเสริมการค้าเสรี
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลการประชุมคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน (High Level Task Force on ASEAN Economic Integration : HLTF-EI) ครั้งที่ 35 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 12-13 มีนาคม 2562 ณ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการประชุมระดับปลัดกระทรวงเศรษฐกิจของอาเซียน ได้ข้อสรุปในประเด็นสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนให้มีประสิทธิภาพ ดังนี้ 1) เห็นชอบประเด็นเศรษฐกิจ 3 ด้าน 13 ประเด็น ที่ไทยเสนอให้อาเซียนร่วมกันดำเนินการให้สำเร็จในปี 2562 เนื่องจากเห็นว่าเป็นประเด็นที่มีความสำคัญและสอดรับกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจการค้าโลกในปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องการรับมือกับอนาคต ความเชื่อมโยง และความยั่งยืน และเห็นชอบให้เสนอประเด็นที่ไทยผลักดัน 3 ด้าน 13 ประเด็น ต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ที่จะจัดขึ้นในเดือนเมษายนนี้ ณ จังหวัดภูเก็ต 2) เตรียมความพร้อมอาเซียนในการรับมือกับยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 (4IR) เนื่องจาก 4IR จะสร้างโอกาสและความท้าทายแก่สมาชิกอาเซียน จึงจำเป็นที่อาเซียนต้องเตรียมการรับมือ โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรรองรับ 4IR โดยไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการรายสาขาด้านเศรษฐกิจของอาเซียนในเดือนกรกฎาคม 2562 เพื่อเตรียมแนวทางการรับมือของอาเซียนในเรื่องนี้ต่อไป 3) พัฒนาการบริหารจัดการกฎระเบียบของอาเซียนโดยเฉพาะกฎระเบียบที่มิใช่ภาษีเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการค้าระหว่างอาเซียน เช่น ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ความโปร่งใสของข้อมูลการใช้กฎระเบียบ 4) ให้ปรับปรุงกลไกการทำงานภายในอาเซียนให้สอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และสามารถรับมือกับประเด็นใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นได้ เช่น ขยายขอบเขตอำนาจหน้าที่ขององค์กรรายสาขาให้ครอบคลุมถึงการดำเนินงานในเรื่องที่เป็นประเด็นคาบเกี่ยว และ 5) ให้คณะทำงานที่เกี่ยวข้องของอาเซียนหารือกันและศึกษาถึงประโยชน์และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการที่ประเทศคู่ค้าของอาเซียนเสนอประเด็นใหม่ๆ เข้ามาเจรจาในเอฟทีเอ เพื่อใช้กำหนดท่าทีร่วมกันเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเจรจาจัดทำเอฟทีเอ กับประเทศนอกภูมิภาคในอนาคต ซึ่งอาจมีประเด็นใหม่ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และการค้าดิจิทัล แรงงาน สิ่งแวดล้อม เป็นต้น
นายบุณยฤทธิ์ เสริมว่า ในการประชุมครั้งนี้ ได้เห็นพ้องกันว่าบรรยากาศการค้าระหว่างประเทศขณะนี้ และการทำงานขององค์การการค้าโลก (WTO) ที่ผ่านมา จำเป็นอย่างยิ่งที่อาเซียนจะต้องร่วมแสดงบทบาทเพื่อให้ WTO ยังคงเป็นองค์กรที่ธำรงไว้ซึ่งการเสริมสร้างระบบการค้าพหุภาคีที่ไม่เลือกปฏิบัติ รักษาความเป็นธรรม และการค้าเสรี ซึ่งที่ประชุมขอบคุณไทยในฐานะประธานอาเซียนที่ได้ร่วมมือกับ WTO จัดการสัมมนาเรื่อง “การปฏิรูปองค์การการค้าโลก: มุมมองของอาเซียน (WTO Reform: Perspectives for ASEAN Countries)” ในวันที่ 14-15 มีนาคม 2562 โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากทั้ง WTO และประเทศต่างๆ อาทิ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น จีน และแคนาดาเข้าร่วม เพื่อเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่การจัดทำท่าทีร่วมของอาเซียนภายใต้เรื่อง WTO Reform ต่อไป
สำหรับประเด็นเศรษฐกิจ 3 ด้าน 13 ประเด็น ได้แก่ (1) การเตรียมอาเซียนรับมืออนาคต เช่น การจัดทำแผนการดำเนินงานด้านดิจิทัล การจัดทำแผนงานด้านนวัตกรรม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับ 4IR การส่งเสริมการใช้ดิจิทัลในผู้ประกอบการรายย่อย (2) ความเชื่อมโยง เช่น การเชื่อมโยงระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window) ให้ครบทั้ง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร และ (3) การสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ เช่น การส่งเสริมการประมงที่ยั่งยืน การจัดตั้งศูนย์เครือข่ายวิจัย และการพัฒนาพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพและพลังงานชีวภาพในอาเซียน เป็นต้น
ทั้งนี้ การค้าระหว่างไทยกับอาเซียนปี 2561 มีมูลค่าการค้ารวม 113,934 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 13 โดยไทยส่งออกไปอาเซียนในปี 2561 มูลค่า 68,437 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 45,497 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยเกินดุล 22,940 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยปัจจุบันการส่งออกของไทยไปอาเซียนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 27 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย
———————————–
กระทรวงพาณิชย์
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ