กรมควบคุมโรค เตือนผู้ปกครองซื้อไส้กรอกต้องได้รับรองจากอย. หลังพบเด็กป่วยด้วยภาวะเมทฮีโมโกลบิน แนะให้ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” ปลอดภัยห่างไกลโรค
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงษ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากกรณีไส้กรอกไม่ได้มาตรฐาน ทำให้เด็กที่รับประทานเจ็บป่วยด้วยภาวะเมทฮีโมโกลบิน (Methemoglobin) จำนวน 10 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุระหว่าง 1 – 12 ปี ในจังหวัดเพชรบุรี ตรัง จังหวัดละ 3 ราย เชียงใหม่ 2 ราย กาญจนบุรี และสระบุรี จังหวัดละ 1 ราย ทุกรายมีประวัติรับประทานไส้กรอกที่ไม่มียี่ห้อก่อนมีอาการประมาณ 30 นาที – 1 ชั่วโมง 30 นาที อาการที่พบ ได้แก่ อาเจียน ซึม สับสน หมดสติ ผิวหนัง/ปากเขียวคล้ำ ซีด เวียนศีรษะ ปลายมือเขียวคล้ำ และตรวจพบออกซิเจนปลายนิ้วต่ำ กรมควบคุมโรค จึงขอย้ำเตือนพ่อแม่ผู้ปกครองให้ซื้อไส้กรอกที่ได้มาตรฐานจากแหล่งที่เชื่อถือได้ มีความสะอาด ปลอดภัย สุขลักษณะของสถานที่ผลิตต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต (GMP) ให้มีรายละเอียดอย่างครบถ้วน ทั้งชื่อผลิตภัณฑ์ ที่ตั้งของผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิตหรือวันหมดอายุ และมีเครื่องหมายอย. กำกับบนฉลากอาหาร
“ไส้กรอกที่ไม่มียี่ห้อหรือไม่ได้มาตรฐาน อาจมีการใช้ไนเตรทและไนไตรท์ในผลิตภัณฑ์ไส้กรอก เพื่อเป็นวัตถุกันเสียมากเกินกำหนด โดยทั่วไปในไส้กรอกจะมีสารประเภทไนไตรท์ในปริมาณที่กำหนด เพื่อใช้ในการคงสภาพสีแดงอมชมพูและถนอมอาหาร ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้ใส่ไม่เกิน 80 มิลลิกรัม/กิโลกรัมอาหาร แต่ถ้าหากมีปริมาณเกินที่กำหนด จะทำให้ผู้รับประทานได้รับไนไตรท์มากเกินไป ซึ่งไนไตรท์จะไปจับกับเลือดทำให้ส่งออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายได้น้อยลง เกิดอาการอาเจียน ซึม สับสน หมดสติ ผิวหนัง/ปากเขียวคล้ำ ซีด เวียนศีรษะ ปลายมือเขียวคล้ำ ภายหลังรับประทาน 2 ชั่วโมง และอาจเสียชีวิตได้ ซึ่งถ้าหากมีอาการดังกล่าวร่วมกับมีประวัติรับประทานไส้กรอก ให้รีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติเสี่ยง” นายแพทย์โอภาส กล่าว
นายแพทย์โอภาส กล่าวด้วยว่า การเลือกซื้อไส้กรอกต้องเลือกจากแหล่งที่เชื่อถือได้ มีความสะอาด ปลอดภัย มีการเก็บรักษาในอุณหภูมิเย็นตลอดการจำหน่าย นอกจากนี้ การบริโภคอาหารควรยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” อาหารต้องสดใหม่ สะอาด นำมาผ่านความร้อนจนสุกทั่วถึง ก่อนปรุงอาหารควรล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้สะอาดทุกครั้ง เพราะในอาหารอาจปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียและไวรัสได้ เสี่ยงต่อโรคอุจจาระร่วง และโรคอาหารเป็นพิษได้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
*************************************
ข้อมูลจาก : กองระบาดวิทยา/สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565