อาหารแปรรูป วายร้ายทำลายไต

75% ของการเสียชีวิตของคนไทย มาจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่ง 22.05 ล้านคน ป่วยเป็นโรคที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมติดเค็ม ซึ่งคนไทยกินเค็มกว่าที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำถึง 2 เท่า นั่นคือ ราว ๆ 4,352 มิลลิกรัม/วัน ขณะที่เราไม่ควรกินเกิน 2,000 มิลลิกรัม/วันสูญเสียกันไปเท่าไหร่กับโรคที่เกิดจากการกินเค็ม? แน่นอนว่ามูลค่านั้นสูงทีเดียว การประเมินความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากพฤติกรรมติดเค็มสูงถึง 98,976 ล้านบาท/ปี จากค่ารักษาพยาบาลจากโรคหัวใจและหลอดเลือด กับไตวายระยะสุดท้าย 10,000,000 คน คือตัวเลขของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงในประเทศไทย ซึ่งโรคดังกล่าวเป็นตัวตั้งส่งผลถึงอวัยวะอื่นๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะไต ที่ทำงานหนักขึ้น จนเป็น “ไตวายเรื้อรัง” และล้างไตสัปดาห์ละ 3 ครั้ง เสียค่าใช้จ่ายต่อปีราว ๆ 200,000 บาท หากรวมค่ายาด้วยก็แตะค่าใช้จ่ายถึง 400,000 บาทต่อปีเลยทีเดียว

เราจึงไม่สามารถปล่อยให้ทีมแพทย์รักษาผู้ป่วยที่เกิดจากติดเค็มได้ฝ่ายเดียว ดังนั้นการป้องกันและให้ความรู้กับประชาชนเป็นเรื่องสำคัญมาก โครงการ “ลดเค็ม ลดโรค” ของโครงการรณรงค์ลดการบริโภคโซเดียมในประเทศไทย โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงเกิดขึ้น เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงโทษของการบริโภคโซเดียม และหันกลับมาบริโภคเค็มในระยะที่ปลอดภัย

เครื่องปรุงที่มีเกลือโซเดียม

ไม่ว่าจะเป็น ‘เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว ซอสปรุงรส กะปิ และซอสหอยนางรม’ นับเป็นเครื่องปรุงรสที่มีเกลือโซเดียมผสมทั้งหมด และยิ่งไปกว่านั้น คือพฤติกรรมของคนไทยที่เพิ่มรสเค็มลงไปในอาหาร เช่น เติมพริกน้ำปลาลงไปในข้าว เติมน้ำปลาลงในก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น จึงไม่แปลกที่ทำให้การบริโภคเค็ม/วัน เกินมาตรฐานของ WHO ไปถึง 2 เท่าเลยทีเดียว

ปริมาณโซเดียมในเครื่องปรุงรส

เกลือ 1 ช้อนชา = 2,000 มิลลิกรัม

น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ =  1,160-1,420 มิลลิกรัม

ซีอิ๊ว 1 ช้อนโต๊ะ =  690-1,420 มิลลิกรัม

ซอสปรุงรส 1 ช้อนโต๊ะ =  1,150 มิลลิกรัม

กะปิ 1 ช้อนโต๊ะ =  1,430-1,490 มิลลิกรัม

ซอสหอยนางรม 1 ช้อนโต๊ะ =  420- 490 มิลลิกรัม

นอกจากเครื่องปรุงรสแล้ว อาหารที่คนไทยนิยมกินและมีปริมาณโซเดียมสูงมาก คือ ‘อาหารแปรรูป’ มาดูกันว่า อาหารแปรรูปแต่ละชนิดมีปริมาณโซเดียมอยู่เท่าไหร่

  • ขนมปัง แผ่น 1 แผ่น = 120-140 มิลลิกรัม
  • โดนัท 1 ชิ้น = 180 มิลลิกรัม
  • ซาลาเปา 1 ชิ้น = 200 มิลลิกรัม
  • ขนมเค้ก 1 ชิ้น =  400 มิลลิกรัม
  • แหนมย่าง 1 ไม้ = 480 มิลลิกรัม
  • ลูกชิ้นหมู 15 กรัม = 320 มิลลิกรัม
  • โบโลน่าหมู 15 กรัม =  410 มิลลิกรัม
  • หมูแผ่น 30 กรัม =  862 มิลลิกรัม
  • หมูยอ 2 ช้อนโต๊ะ  =   227 มิลลิกรัม
  • ไข่เค็ม 1 ฟอง =  300-500 มิลลิกรัม
  • โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป 1 ซอง =  1,900 มิลลิกรัม
  • น้ำจิ้มข้าวมันไก่ 1 ช้อนโต๊ะ =  214 มิลลิกรัม
  • น้ำจิ้มสุกี้ 1 ช้อนโต๊ะ = 280 มิลลิกรัม
  • ซุปก้อน 1 ก้อน = 2,600 มิลลิกรัม
  • ส้มตำปู 100 กรัม =  2,000 มิลลิกรัม
  • ต้มยำปลากระป๋อง 100 กรัม =  3,000 มิลลิกรัม
  • แกงเลียง โซเดียมเฉลี่ย =   800 มิลลิกรัม
  • บะหมี่น้ำหมูแดง = 1,500 มิลลิกรัม
  • ก๋วยจั๊บ = 1,450 มิลลิกรัม
  • ผัดไท = 1,200 มิลลิกรัม

อาหารที่เรากินเข้าไป เผลอ ๆ แค่เพียง 1 มื้อ ก็ทำให้ปริมาณโซเดียมที่เราควรบริโภคก็เกินแล้ว แต่เราสามารถบอกแม่ค้า พ่อค้าได้ว่า ใส่น้ำปลาเล็กน้อย หรือไม่ใส่เลยก็ได้ ส่วนอาหารแปรรูปนั้นถ้าเลี่ยงได้ก็เลี่ยง แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ ก็เลือกกินในปริมาณที่เหมาะสม เพราะการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังนั้น เกิดจากพฤติกรรมการกินที่สะสมมาอย่างต่อเนื่อง หาก ลดเค็ม’ ลงตั้งแต่วันนี้ พร้อมกับ ลดหวาน ลดมัน” ด้วยแล้ว จะยิ่งทำให้สุขภาพดี และห่างไกลจากโรคไม่ติอต่อเรื้อรังแน่นอน

***************************************

ข้อมูลที่มา : https://www.thaihealth.or.th/