กรมควบคุมโรค ลงพื้นที่ดำเนินการเฝ้าระวังสุขภาพประชาชน จากการรับสัมผัสมลพิษในสิ่งแวดล้อม กรณีน้ำมันดิบรั่วไหลใต้ทะเล จ.ระยอง

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด ลงพื้นที่ดำเนินงานร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดระยอง เพื่อเฝ้าระวัง และควบคุมผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเก็บกู้น้ำมันดิบที่รั่วไหลจากทุ่นรับน้ำมันดิบใต้ทะเลจังหวัดระยอง พร้อมเน้นมาตรการดูแลความปลอดภัยในการปฏิบัติงานของผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่

วันที่ 31 มกราคม 2565 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรค ได้มอบหมายให้กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม โดยศูนย์พัฒนาวิชาการอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จ.ระยอง ร่วมกับสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จ.ชลบุรี (สคร.6 ชลบุรี) ผู้รับผิดชอบในพื้นที่ พร้อมด้วยสำนักงานสาธารณสุข จ.ระยอง และโรงพยาบาลระยอง ลงพื้นที่เฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพให้กับประชาชน และตรวจคัดกรองเพื่อเฝ้าระวังสุขภาพเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเก็บกู้น้ำมันดิบ พร้อมทั้งสนับสนุนหน้ากากป้องกันสารเคมี ชนิด R95 ให้กับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานและประชาชนในพื้นที่ เพื่อป้องกันไอระเหยจากน้ำมันดิบ รวมถึงสื่อสารความเสี่ยงเน้นย้ำการเฝ้าระวัง สังเกตอาการ ดูแลสุขภาพของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และการปฏิบัติตนของชุมชน ร้านค้า รีสอร์ท โรงแรมบริเวณชายหาด โดยสถานการณ์ปัจจุบันไม่พบคราบน้ำมันดิบบริเวณหาดแม่รำพึงถึงลานหินขาว มีเพียงบริเวณลานหินขาวถึงเขาแหลมหญ้า หมู่เกาะเสม็ดระยะทาง 2 กิโลเมตร ที่พบการกระจายของคราบเป็นลักษณะฟิล์มใส

สำหรับการตรวจคัดกรองสุขภาพผู้ปฏิบัติงานเสี่ยงสัมผัสน้ำมันดิบ วันที่ 30 มกราคม 2565 โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยอง โรงพยาบาลระยอง สคร. 6 จ.ชลบุรี และศูนย์พัฒนาวิชาการอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จ.ระยอง จำนวน 241 คน เก็บสิ่งส่งตรวจ ปัสสาวะ 238 คน ตัวอย่างเลือด 241 คน นอกจากนี้ ศูนย์พัฒนาวิชาการอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จ.ระยอง ได้ทำการตรวจวัดระดับความเข้มข้นของสาร Benzene และ Xyleneในบรรยากาศ ในบริเวณพื้นที่ปฏิบัติการและพื้นที่ใกล้เคียง ผลไม่พบค่าเกินมาตรฐาน

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยอง และโรงพยาบาลระยอง สื่อสาร ความเสี่ยงโดยจัดทำสื่อต้นแบบ เช่น

1) แนวทางการดูแลรักษาผู้ได้รับสัมผัสสำหรับบุคลากร

2) คำแนะนำในการปฏิบัติตัวสำหรับประชาชนทั่วไป กรณีเหตุน้ำมันรั่วไหล

3)แนวทางการปฏิบัติงานกรณีน้ำมันรั่วไหล

4) แนวทางการเก็บสิ่งส่งตรวจผู้สัมผัสเสี่ยงสูง

5) แบบเฝ้าระวังสุขภาพกรณีน้ำมันดิบ เป็นต้น

นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อไปว่า ขอเน้นย้ำความปลอดภัยในการปฏิบัติงานของผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ดังกล่าว พร้อมทั้งแนะนำให้ประชาชนรวมถึงเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ ระวังผลกระทบทางสุขภาพ และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ประชาชนไม่ควรเข้าใกล้บริเวณที่เกิดเหตุ และห้ามนำสัตว์ทะเลที่ตายบริเวณชายหาดมารับประทาน หากมีการสัมผัสคราบน้ำมันดิบบริเวณผิวหนังหรือดวงตา ให้รีบล้างออก ด้วยน้ำสะอาด หมั่นสังเกตอาการตนเองและคนใกล้ชิด หากมีอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน แน่นหน้าอก หายใจลำบาก ตาพร่ามัว แสบตา ตาแดง ผิวหนังอักเสบ มีผื่นแดง ให้รีบไปพบแพทย์ทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422