บ่ายวันที่(13มี.ค.62) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจราชการเขตพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา และเป็นประธานในงาน”One Transport for all:ระบบคมนาคมหนึ่งเดียวเพื่อประชาชนทุกคน” โดยมี ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน นายเกียรติศักดิ์ หนูแก้ว ผู้อำนวยการชลประทานที่8 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมชลประทานตลอดจนประชาชน ให้การต้อนรับ ณ หอประชุมอาคารสุรพัฒน์ 2 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา
ในการนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะ ได้เยี่ยมชมบูธจัดแสดงผลการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลในส่วนของจังหวัดนครราชสีมา จากส่วนราชการต่างๆ ที่นำมาเสนอในงาน
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้นำเสนอผลการดำเนินงาน ตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของรัฐบาล ที่อนุมัติเมื่อปี 2559 ให้ดำเนิน โครงการบริหารจัดการน้ำและแก้ปัญหาภัยแล้ง จ.นครราชสีมา 2 โครงการ คือ 1.โครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำเชียงไกร(ตอนล่าง) ขุดคลองพร้อมสร้างอาคารประกอบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายและเก็บกักน้ำในลำน้ำ และโครงการพัฒนาโครงข่ายน้ำ แบบบูรณาการและการมีส่วนร่วม ได้แก่ โครงการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง มายังอ่างเก็บน้ำหนองกก เพื่อช่วยเหลือปัญหาการขาดแคลนน้ำ รวมทั้งโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำเชียงไกร(ตอนบน) ปัจจุบันโครงการฯ อยู่ในระหว่างการดำเนินงาน หากโครงการฯ แล้วเสร็จจะสามารถลดความสูญเสียพืชผลทางการเกษตรในเขตพื้นที่ อ.ด่านขุนทด อ.โนนไทย และอ.โนนสูง อีกทั้งยังมีน้ำใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภค อย่างเพียงพอในช่วงฤดูแล้งอีกด้วย 2. โครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพระเพลิง จ.นครราชสีมา เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในลำพระเพลิง ลำสำลาย และลำซอ โดยได้ก่อสร้างอาคารระบายน้ำในลำพระเพลิง ลำสำลาย ทดแทนอาคารเดิม พร้อมรื้อถอนสิ่งก่อสร้างที่กีดขวางทางระบายน้ำ และขุดลอกลำพระเพลิง ลำสำลาย ลำซอ รวมถึงโครงการแก้มลิงขนาดใหญ่ ในพื้นที่ดังกล่าว ปัจจุบันโครงการฯ ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ สามารถกักเก็บน้ำได้เพิ่มมากขึ้นจาก 105 ล้านลูกบาตรเมตร เป็น 155 ล้านลูกบาตรเมตร ทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำของอ่างเก็บน้ำลำสำลายโดยการขุดลอกเพิ่มความจุอ่างจาก 40 ล้านลูกบาตรเมตร เป็น 43 ล้านลูกบาตรเมตร และยังสามารถขยายพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทานพื้นที่ลุ่มน้ำลำพระเพลิงเพิ่มขึ้นได้อีก 18,000 ไร่
สำหรับสถานการณ์น้ำในเขตพื้นที่จังหวัดนครราสีมา ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวมกัน 589 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 48 โดยแบ่งเป็น อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ่างเก็บน้ำมูลบน และอ่างเก็บน้ำลำแชะ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันประมาณ 453 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 51 อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 23 แห่ง โดยเป็นอ่างเก็บน้ำในพระราชดำริ 3 แห่ง ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างฯ 131 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 39 และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก จำนวน 313 แห่ง อยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน 12 แห่ง เป็นอ่างเก็บน้ำในพระราชดำริ 9 แห่ง ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างฯ 4 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 54
สำหรับแผนการใช้น้ำในฤดูแล้งปี 2561/62 ได้ทำการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภค – บริโภค เป็นหลัก 68 ล้าน ลูกบาศก์เมตร เพื่อรักษาระบบนิเวศ 80 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อภาคอุตสาหกรรมและอื่นๆ 56 ล้านลูกบาศก์เมตร และเพื่อภาคการเกษตร 294 ล้านลูกบาศก์เมตร สนับสนุนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งประมาณ 258,656 ไร่ ซึ่งปัจจุบันเพาะปลูกแล้วประมาณ 99,105 ไร่
ด้านแผนป้องกันและบรรเทาภัยแล้ง พื้นที่จังหวัดนครราชสีมา มีแหล่งน้ำต้นทุนในเขตชลประทานจากแหล่งน้ำนอกจังหวัดและจากแผนจัดสรรน้ำ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 380 ล้านลูกบาศก์เมตร และแหล่งน้ำนอกเขตชลประทานจากแหล่งน้ำผิวดินและบ่อบาดาล มีปริมาณน้ำรวมกัน 45 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณความต้องการใช้น้ำของประชากรในพื้นที่ทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน ในการทำกิจกรรมต่างๆ รวม 94 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค นอกเขตชลประทาน ในพื้นที่ อ.ขามสะแกแสง (พะงาด) และ อ.เมืองนครราชสีมา (หนองไข่น้ำ , หนองกระทุ่ม , สีมุม , ปรุใหญ่) กรมชลประทานมีแผนการช่วยเหลือ โดยการขุดขยายสระน้ำประปา และสูบน้ำจากประตูระบายน้ำและฝายมายังพื้นที่ขาดแคลน นอกจากนี้ยังได้เตรียมความพร้อมและแนวทางการช่วยเหลือบรรเทาพื้นที่ขาดแคลนน้ำ โดยเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ อาทิเช่น เครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ รวมทั้งเฝ้าระวังและติดตามวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำจากศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(swoc) ตลอดเวลา เพื่อให้สามารถเข้าช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยได้อย่างรวดเร็ว