การเคหะแห่งชาติ (กคช.) ร่วมกับหน่วยวิจัยเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จัดทำโครงการวิจัยแนวทางการออกแบบที่อยู่อาศัยโดยใช้เทคโนโลยีด้านพลังงาน น้ำ และการกำจัดขยะมูลฝอย เพื่อนำไปใช้ในโครงการที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง
ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและปานกลางพบปัญหาด้านการจัดการพลังงาน การใช้น้ำ และการกำจัดขยะมูลฝอยที่มีความสัมพันธ์กับการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้อยู่อาศัยในโครงการ การเคหะแห่งชาติตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงร่วมกับหน่วยวิจัยเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ทำการศึกษา “โครงการวิจัยแนวทางการออกแบบที่อยู่อาศัยโดยใช้เทคโนโลยีด้านพลังงาน น้ำ และการกำจัดขยะมูลฝอย เพื่อนำไปใช้ในโครงการที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง” เพื่อศึกษาแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีด้านพลังงาน การจัดการน้ำ และการกำจัดขยะมูลฝอย รวมถึงสำรวจความต้องการของผู้อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง พฤติกรรมการอยู่อาศัย และบริบทในแต่ละพื้นที่ พร้อมทั้งวิเคราะห์และเสนอแนวทางการออกแบบที่อยู่อาศัยโดยใช้เทคโนโลยีด้านพลังงาน น้ำ และการกำจัดขยะมูลฝอยที่เหมาะสม ตลอดจนออกแบบโครงการที่อยู่อาศัยต้นแบบ รวมทั้งการปรับปรุงโครงการที่อยู่อาศัยเดิม
สำหรับการศึกษาโครงการดังกล่าว ดร.ธัชพล กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะผู้วิจัยได้ศึกษาโครงการตัวอย่างทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งเก็บรวบรวมข้อมูลจากการสำรวจโครงการที่อยู่อาศัยใน 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ ประกอบด้วย โครงการที่อยู่อาศัยภาครัฐ 6 โครงการ ได้แก่ บ้านเอื้ออาทรลาดกระบัง 1 บ้านเอื้ออาทรสมุทรสาคร
(บางแก้ว) บ้านเอื้ออาทรชลบุรี (วัดรังษีสุทธาวาส) บ้านเอื้ออาทรขอนแก่น (ศิลา) บ้านเอื้ออาทรเชียงใหม่ (สันป่าตอง) และบ้านเอื้ออาทรภูเก็ต (ถลาง) และโครงการภาคเอกชน 6 โครงการ รวมทั้งสิ้น 450 ตัวอย่าง พบว่า โครงการที่อยู่อาศัยภาครัฐมีการใช้พลังงานโดยเฉลี่ย 60.88 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อตารางเมตรต่อปี (kWh/sq.m.-year) และมีการใช้น้ำเฉลี่ย 6.26 หน่วยต่อตารางเมตรต่อปี (unit/sq.m.-year) ติดตั้งเครื่องปรับอากาศร้อยละ 52.58 และมีการแยกขยะร้อยละ 73.23 ขณะที่โครงการภาคเอกชนมีการใช้พลังงานโดยเฉลี่ย 49.16 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อตารางเมตรต่อปี (kWh/sq.m./year) และมีการใช้น้ำเฉลี่ย 3.77 หน่วยต่อตารางเมตร – ปี (unit/sq.m.-year) ติดตั้งเครื่องปรับอากาศร้อยละ 67.39 และมีการแยกขยะร้อยละ 67.39
การออกแบบปรับปรุงโครงการเดิมได้คัดเลือกโครงการบ้านเอื้ออาทรลาดกระบัง 1 เป็นที่อยู่อาศัยรวม มีพื้นที่โครงการ 20-0-56 ไร่ จำนวน 1,360 หน่วย โดยการทาสีอาคารใหม่เพื่อเพิ่มค่าการสะท้อนความร้อนของผนังอาคาร ช่วยลดพลังงานไฟฟ้าต่ออาคารได้ 18.94 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อวัน (kWh/day) หรือคิดเป็นเงิน 203.44 บาท/วัน และสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 4,023 kgCo2/year การออกแบบอุปกรณ์บังแดดให้ช่องเปิดกระจกใสของห้องปรับอากาศ จากค่า SC=1 เป็น SC=0.7 ช่วยลดพลังงานไฟฟ้าต่ออาคารได้ 1.62 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อวัน(kWh/day) หรือคิดเป็นเงิน 6.02 บาท/วัน และสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 345.01 kgCo2/year การเปลี่ยนหน้าต่างบานเกล็ดเป็นบานเลื่อน ช่วยลดพลังงานไฟฟ้าต่ออาคารได้มากถึง 148.37 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อวัน (kWh/day) หรือคิดเป็นเงิน 550.44 บาท/วันและสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 31,523 kgCo2/year รวมถึงการติดตั้งพลังงานโซลาร์เซลล์ บนหลังคาเพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้าในเวลากลางวัน และการออกแบบกิจกรรมเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้อยู่อาศัยในโครงการ
ส่วนการออกแบบโครงการใหม่ที่ อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม พื้นที่โครงการ 37.73 ไร่ เป็นบ้านแฝดจำนวน 390 หน่วย โดยใช้แนวคิดการวางอาคารตามทิศเหนือ-ใต้ ใช้ไฟถนน LED ระบบพลังงานโซล่าเซลล์ออกแบบบ้านให้มีชายคาโดยรอบเพื่อลดความร้อนจากดวงอาทิตย์ ใช้ระบบระบายอากาศภายในบ้าน Active air flow
สรุปผลการศึกษาออกแบบโครงการด้วยเกณฑ์ ECO – Village พบว่า โครงการที่ออกแบบสามารถผ่านเกณฑ์ในระดับ Certify ระดับ Silver สำหรับการวิเคราะห์บ้านที่ออกแบบด้วยเกณฑ์ประสิทธิภาพอาคารเบอร์ 5 ได้คะแนนเฉลี่ยรวม 92 คะแนน ทำให้บ้านที่ออกแบบได้ค่าประสิทธิภาพ เบอร์ 5 ด้านผลการวิเคราะห์เกณฑ์มาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานของบ้านอยู่อาศัยพบว่า อาคารที่ออกแบบผ่านเกณฑ์ที่กำหนด โดยการติดตั้งฉนวนใยแก้วหนา 3 นิ้ว บนฝ้าเพดานจะทำให้บ้านที่ออกแบบใช้พลังงานลดลงมากถึงร้อยละ 45.03 สามารถคืนทุนภายใน 5 เดือน 14 วัน การเลือกวัสดุมุงหลังคาสีอ่อนจะช่วยให้บ้านที่ออกแบบใช้พลังงานลดลงร้อยละ 18.37 ในขณะที่ถ้าเลือกใช้วัสดุมุงหลังคาสีเข้ม บ้านที่ออกแบบจะใช้พลังงานมากขึ้นร้อยละ 18.36 หรือการเลือกติดตั้งเครื่องปรับอากาศที่ได้ฉลากเบอร์ 5 ณ ปีล่าสุด จะทำให้บ้านที่ออกแบบใช้พลังงานลดลงร้อยละ 8.69 หรือเลือกติดตั้งเครื่องปรับอากาศแบบ Inverter ที่ได้ฉลากเบอร์ 5 ณ ปีล่าสุด จะช่วยให้ใช้พลังงานลดลงร้อยละ 20.24