กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะแม่ที่แยกกักตัวอยู่ที่บ้าน Home Isolation (HI) ยังคงสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่อง ย้ำ ต้องปฎิบัติตาม 6 วิธี แนะนำอย่างเคร่งครัด
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงมีผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง อาจไม่จำเป็นต้องได้รักษาแบบผู้ป่วยใน ของโรงพยาบาล แต่ให้แยกกักตัวที่บ้าน Home Isolation (HI) เพื่อสังเกตอาการได้ โดยเฉพาะแม่ที่ติดเชื้อ แต่มีอาการไม่รุนแรง หรืออยู่ในกลุ่มเฝ้าระวังการติดเชื้อ ยังสามารถให้นมลูกได้ปกติ ไม่ว่าจะเป็น การให้นมจากเต้า หรือการเก็บสำรองนมแม่ไว้ สำหรับแม่ที่มีอาการติดเชื้อและจำเป็นต้องแยกแม่ลูก ควรเก็บสำรองน้ำนมโดยให้คนอื่นเป็นผู้ป้อนแทน หากแม่ที่ติดเชื้อและมีอาการรุนแรง ต้องแยกแม่และลูก และงดให้นมแม่ แนะนำให้บีบระบายน้ำนมทิ้ง เพื่อให้แม่คงสภาพการมีน้ำนมและสามารถกลับมาให้นมแม่ได้เมื่อมีอาการดีขึ้นหรือหายปกติ โดยมีหลักต้องปฏิบัติตามการแนะนำ 6 วิธี ดังนี้
1) อาบน้ำหรือเช็ด ทำความสะอาดบริเวณเต้านมและหัวนมด้วยน้ำสะอาด
2) ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ นานอย่างน้อย 20 วินาที หรือแอลกอฮอล์เข้มข้น 70 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป
3) สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ขณะทำกิจกรรม ให้นมลูก
4) งดสัมผัสบริเวณใบหน้าของตนเองและทารก เช่น การหอมแก้ม
5) หาผู้ช่วยหรือญาติที่มี สุขภาพแข็งแรงและทราบวิธีการป้อนนมที่ถูกต้อง โดยปฏิบัติตามวิธีการป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด สำหรับทารก ควรใช้ช้อนหรือถ้วยเล็กในการป้อน
6) ทำความสะอาดอุปกรณ์ทันทีหลังให้นมลูกเสร็จ และควรนึ่งเพื่อฆ่าเชื้อทุกครั้ง แต่หากแม่ติดเชื้อและกินยาต้านไวรัส แนะนำหลีกเลี่ยงการให้นมลูก เนื่องจาก ยาต้านไวรัสบางชนิดจะถูกขับออกทางน้ำนม เช่น ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) หรือ ดารูนาเวียร์ (Darunavir)
“ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกและยูนิเซฟได้แนะนำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างต่อเนื่อง แม้แม่มีความเสี่ยง ในการติดเชื้อโควิด-19 หรือติดโควิด-19 เนื่องจากในน้ำนมแม่มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด ที่จำเป็น สำหรับทารก และยังมีภูมิคุ้มกันโรคที่ช่วยปกป้องลูก โดยเฉพาะนมแม่ในระยะแรกคลอด ถือเป็นวัคซีนหยดแรกของลูก เป็นยอดน้ำนมที่เรียกว่า “โคลอสตรัมหรือหัวน้ำนม” อุดมไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ ทั้งคาร์โบไฮเดรต โปรตีน กรดไขมันจำเป็นที่ส่งผลต่อสมอง วิตามิน แร่ธาตุครบถ้วน ช่วยสร้างภูมิต้านทานโรค ส่งผลให้ ลูกปลอดภัยจากไข้หวัด ปอดอักเสบ และท้องร่วงที่อาจมีอันตรายถึงชีวิต” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
กรมอนามัย / 29 มกราคม 2565