กรมสุขภาพจิต จับมือ องค์การอนามัยโลก องค์การยูนิเซฟ และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ จัดสัมมนาวิชาการนานาชาติ สร้างความเชื่อมั่น ลดความลังเลใจ พร้อมใจฉีดวัคซีน (Vaccine Hesitancy) หวังคนไทยรับวัคซีน ให้ครอบคลุม สร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสกลายพันธุ์
เมื่อวันที่27 มกราคม 2565 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ องค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ จัดโครงการสัมมนาวิชาการนานาชาติในรูปแบบออนไลน์ สร้างความเชื่อมั่น ลดความลังเลใจ พร้อมใจฉีดวัคซีน (Collaboration with WHO Thailand and UNICEF Thailand) ผ่านระบบออนไลน์ ระหว่างวันที่ 27-28 มกราคม 2565 เพื่อถ่ายทอดบทเรียน ความสำเร็จการดำเนินงานแก้ไขปัญหาผู้มีความลังเลใจในการฉีดวัคซีนและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การดำเนินงานและนวัตกรรมที่สามารถให้ประชาชนเกิดความตระหนักถึงความสำคัญของการฉีดวัคซีนโควิด 19 ที่สามารถทำให้นานาประเทศขับเคลื่อนการกระจายวัคซีนมีความคืบหน้า ได้เร็วยิ่งขึ้น พร้อมทั้งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และสามารถรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ได้
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้บรรยายพิเศษโดยมีใจความสำคัญว่า ความสำเร็จในการฉีดวัคซีนได้เกินกว่า 111 ล้านโดสขณะนี้ได้เกินเป้าหมาย 70 % ที่องค์การอนามัยโลกวางไว้ได้นั้นเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนและการมุ่งดูแลกลุ่มเสี่ยงตลอดจนกลุ่มด้อยโอกาสเพื่อสุขภาพ ของประชาชนและเป้าหมายทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศดีขึ้น การส่งเสริมความครอบคลุมวัคซีนในประเทศไทยในวันนี้ แสดงความคืบหน้าของประเทศไทยในการต่อสู้กับการแพร่กระจายของโควิด 19 โดยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ได้เร่งการฉีดวัคซีนเป็นจำนวนสูงสุด 1 ล้านโดสต่อวัน และในปีนี้รัฐบาลได้กระจายวัคซีนป้องกันโควิด 19 ไปเพื่อที่จะพร้อมให้ทุกคน ในประเทศไทยได้รับวัคซีนป้องกันโควิด 19 ภายในกลางปี 2565
ถึงแม้ในขณะนี้ยังคงมีช่องว่างระหว่างประชากรกลุ่มเสี่ยง และความไม่เท่าเทียมกันของวัคซีนในกลุ่มผู้เปราะบาง แต่การมีส่วนร่วมของสาธารณชนและความพยายามในการทำงานร่วมกันที่มากขึ้นทั้งจากพันธมิตรด้านการพัฒนาทั้งในภาครัฐและเอกชนจะต้องสามารถเอาชนะความลังเลของวัคซีนในประเทศ ทุกฝ่ายต้องร่วมกันต่อสู้ไม่เพียงแค่การแพร่ระบาด แต่ยังรวมถึงการให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง เพื่อบรรเทาความกังวลของประชาชนและเพิ่มการยอมรับวัคซีนเพื่อสร้างชุมชนที่มีสุขภาพดีขึ้นและเตรียมเปิดประเทศต้อนรับแขกจากทั่วโลกอีกครั้ง การสัมมนาในวันนี้ถือเป็นบทเรียนของประเทศไทยที่สามารถนำไปเป็นองค์ความรู้สำคัญในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเครือข่ายผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพทั้งในและต่างประเทศ เพื่อการเพิ่มพูนความรู้และวิชาการใหม่ๆ และนำไปใช้ประโยชน์ในการดูแลสุขภาพประชาชนต่อยอดการทำงานในระบบสุขภาพต่อไป
นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับระบบการเฝ้าระวังการระบาดของโรคเพื่อการป้องกันและแก้ไขได้ทันต่อสถานการณ์ หรือการยกระดับให้ดำเนินการตามมาตรการเปิดประเทศด้วย V-U-C-A ได้แก่
1) Vaccine ฉีดครบ ลดป่วยหนัก
2) Universal Prevention ป้องกันตนเองตลอดเวลา
3) Covid Free Setting สถานที่บริการพร้อม ผู้ให้บริการฉีดวัคซีนครบ ตรวจ ATK ทุกสัปดาห์
4) ATK (Antigen test kit) พร้อมตรวจเสมอเมื่อใกล้ชิดคนติดเชื้อ
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันยังคงพบว่า ประชาชนส่วนหนึ่งที่มีความลังเลใจในการฉีดวัคซีนโควิด 19 มีสาเหตุมาจากความชะล่าใจในความปลอดภัย ไม่คิดว่าตนเองมีความเสี่ยงในการติดเชื้อถึงร้อยละ 80.89 ทั้งที่ประชาชนกลุ่มนี้อาศัยอยู่ในจังหวัดที่มีการระบาดและมีคนที่รู้จักหรือคนใกล้ชิดติดเชื้อโควิด 19 การที่ประชาชนส่วนหนึ่งยังมีความลังเลใจหรือปฏิเสธการรับวัคซีน อาจมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความไม่มั่นใจในประสิทธิภาพและอาการข้างเคียงของการได้รับวัคซีน ความสะดวกในการเข้าถึงบริการ และความชะล่าใจต่อความเสี่ยงในการติดเชื้อ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวนี้ถือเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับหลายประเทศทั่วโลก โดยหลายประเทศก็มีความพยายามในการค้นหาองค์ความรู้ นวัตกรรมเพื่อการจัดการกับปัญหาดังกล่าวเช่นกัน
กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข จึงมีความพยายามดำเนินงานเชิงรุกเพื่อเร่งรัดและกระตุ้นให้ประชาชนเข้าถึงการฉีดวัคซีนโควิด 19 มากขึ้น พร้อมกับการสร้างความเชื่อมั่นและการให้ข้อมูลที่ถูกต้องด้วยวิธีการสนทนาเพื่อสร้างแรงจูงใจ หรือ Motivation Interview (MI) ในกลุ่มที่ยังมีความลังเลใจในการฉีดวัคซีน ซึ่งจากการดำเนินงานดังกล่าวนี้ในเบื้องต้นพบว่า การเสริมสร้างแรงจูงใจในการฉีดวัคซีนโควิด 19 มีผลความสำเร็จในการสนับสนุนการฉีดวัคซีนถึงร้อยละ 77.6 ได้ในปัจจุบัน
ภายในงานสัมมนานานาชาติมีการบรรยายและแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงวิชาการในหัวข้อที่น่าสนใจทั้งภาคภาษาไทย และภาษาอังกฤษ โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน ภายใต้ความร่วมมือเพื่อความมั่นคงและการพึ่งตนเองด้านวัคซีนในภูมิภาคอาเซียน (AVSSR) รวมถึงเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนระหว่างประเทศ ผู้บริหาร นักวิชาการด้านสาธารณสุข เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขในแต่ละพื้นที่ และเครือข่ายระหว่างประเทศของกรมสุขภาพจิต ทั้งนี้ผลการเสวนาวิชาการออนไลน์ในครั้งนี้จะสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงในการดำเนินงานด้าน Vaccine Hesitancy ให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
********** 28 มกราคม 2565