การจดทะเบียนธุรกิจและการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

นางสาวชุติมา  บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายให้ นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์  รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แถลงข่าวการจดทะเบียนธุรกิจของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ประจำเดือน กุมภาพันธ์ 2562 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ผลการจดทะเบียนธุรกิจ

ธุรกิจจัดตั้งใหม่เดือนกุมภาพันธ์

– จำนวนธุรกิจจัดตั้งใหม่  มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทใหม่ทั่วประเทศ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จำนวน 6,563 ราย เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2562 จำนวน 7,311 ราย ลดลงจำนวน  748 ราย คิดเป็นร้อยละ 10 และเมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2561 จำนวน 6,356 ราย เพิ่มขึ้น จำนวน 207 ราย คิดเป็นร้อยละ 3

– ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 590 ราย คิดเป็น  ร้อยละ 9 รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 381 ราย คิดเป็นร้อยละ 6 และอันดับ 3 คือ ธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร จำนวน 162 ราย คิดเป็นร้อยละ 2

– มูลค่าทุนธุรกิจจัดตั้งใหม่  ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562  มีจำนวนทั้งสิ้น 16,858 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ  เดือนมกราคม 2562 จำนวน 17,693 ล้านบาท ลดลงจำนวน 835 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5 และเมื่อเทียบกับ เดือนกุมภาพันธ์ 2561 จำนวน 17,636 ล้านบาท ลดลงจำนวน 778 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4

– ธุรกิจจัดตั้งใหม่แบ่งตามช่วงทุน  โดยช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศมากที่สุด ได้แก่  ช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท มีจำนวน 4,856 ราย คิดเป็นร้อยละ 73.99 รองลงมา คือช่วงทุนมากกว่า 1- 5 ล้านบาท มีจำนวน 1,600 ราย คิดเป็นร้อยละ 24.38 รองลงมา คือช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท มีจำนวน 92 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.40 และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 15 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.23

– ธุรกิจจัดตั้งใหม่สะสม จำนวนธุรกิจตั้งใหม่สะสมตั้งแต่เดือน ม.ค. – ก.พ. 62 มีจำนวน 13,874 ราย เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ม.ค. – ก.พ. 61) จำนวน 13,321 ราย โดยเพิ่มขึ้น จำนวน 553 ราย คิดเป็นร้อยละ 4 สำหรับมูลค่าทุนจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่สะสมตั้งแต่เดือน ม.ค. – ก.พ. 62 มีจำนวน 34,551 ล้านบาท ลดลง 1,025 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกับของปีที่ผ่านมา (ม.ค. – ก.พ. 61) จำนวน 35,576 ล้านบาท

ธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ ณ เดือนกุมภาพันธ์

– ธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ทั้งสิ้น  (ณ วันที่ 28 ก.พ. 62)  ธุรกิจที่ยังคงดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ จำนวน724,454 ราย  มูลค่าทุน 16.63 ล้านล้านบาท  จำแนกเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด / ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำนวน 184,364 ราย คิดเป็นร้อยละ 25.45  บริษัทจำกัด จำนวน 538,868 ราย คิดเป็นร้อยละ 74.38 และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,222 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.17

– ธุรกิจดำเนินกิจการอยู่แบ่งตามช่วงทุน  ธุรกิจส่วนใหญ่มีช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท จำนวน 430,834 ราย คิดเป็นร้อยละ 59.47 รวมมูลค่าทุน 0.38 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.28 รองลงมา คือ ช่วงทุนมากกว่า 1-5 ล้านบาท จำนวน 209,427 ราย คิดเป็นร้อยละ 28.91 รวมมูลค่าทุน 0.68 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4.10 รองลงมา คือ ช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท จำนวน 69,228 ราย คิดเป็นร้อยละ 9.55 รวมมูลค่าทุน 1.87 ล้านล้านบาท  คิดเป็น  ร้อยละ 11.27 และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท  จำนวน 14,965 ราย คิดเป็นร้อยละ 2.07 รวมมูลค่าทุน 13.70 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 82.35 ตามลำดับ

ธุรกิจเลิกประกอบกิจการเดือนกุมภาพันธ์

– จำนวนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ  มีจำนวน 812 ราย เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2562 จำนวน 1,401 ราย  ลดลงจำนวน 589 ราย คิดเป็นร้อยละ 42 และเมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2561 จำนวน 810 ราย เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจำนวน 2 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.2

– ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก   ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 104 ราย คิดเป็นร้อยละ 13 รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 58 ราย คิดเป็นร้อยละ 7 และธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการจัดการ จำนวน 22 ราย คิดเป็นร้อยละ 3 ตามลำดับ

– มูลค่าทุนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ  ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 2,531 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2562 จำนวน 4,462 ล้านบาท ลดลงจำนวน 1,931 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 43 และเมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2561 จำนวน 9,785 ล้านบาท  ลดลงจำนวน 7,254 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 74

– ธุรกิจเลิกประกอบกิจการแบ่งตามช่วงทุน โดยช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจเลิกประกอบกิจการทั่วประเทศ มากที่สุด ได้แก่ ช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท จำนวน 560 ราย คิดเป็นร้อยละ 68.97 รองลงมาคือช่วงทุนมากกว่า 1- 5 ล้านบาท จำนวน 213 ราย คิดเป็นร้อยละ 26.23 ลำดับถัดไปคือช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท จำนวน 36 ราย คิดเป็นร้อยละ 4.43 และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท มีจำนวน 3 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.37

– ธุรกิจเลิกสะสม จำนวนธุรกิจเลิกสะสมตั้งแต่เดือน ม.ค. – ก.พ. 62 มีจำนวน 2,213 ราย เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจำนวน 53 ราย คิดเป็นร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ม.ค. – ก.พ. 61) จำนวน 2,160 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียนธุรกิจเลิกสะสมตั้งแต่เดือน ม.ค. – ก.พ. 62 มีจำนวน 6,993 ล้านบาท ลดลง 8,355 ล้านบาท  คิดเป็นร้อยละ 54 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกับของปีที่ผ่านมา (ม.ค. – ก.พ. 61) จำนวน 15,348 ล้านบาท

แนวโน้มการจัดตั้งธุรกิจ

แนวโน้มเติบโตของการจัดตั้งธุรกิจ  มีอัตราการเติบโตที่ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ เมื่อประเมินจากอัตราการเติบโตของ GDP และแนวโน้มด้านเศรษฐกิจ สังคม จึงคาดว่า เดือนมีนาคม 2562 จะมีสถานการณ์การจัดตั้งธุรกิจเป็นไปตาม seasonal ของการจดทะเบียน โดยขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2562 และมีอัตราเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2561 (เดือนมีนาคม มีการขยายตัวของการจัดตั้งธุรกิจจากเดือนกุมภาพันธ์ทุกๆปี ตั้งแต่ปี 2552 ยกเว้นปี 2555 ที่มีจำนวนลดลงเล็กน้อย)

การให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเดือนกุมภาพันธ์ 2562

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลดิจิทัล และ พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวก เพื่อลดต้นทุน ลดเวลา และลดการใช้กระดาษ โดยพัฒนาการบริการทุกระบวนการของกรม ผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้ผู้ใช้บริการยื่นขอรับบริการได้ทุกที่ ทุกเวลา

e-Registration การจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์

การจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2560 – 28 กุมภาพันธ์ 2562 มีการยืนยันการใช้งาน (Activate) จำนวน 35,413 ราย รับจดทะเบียน 12,642 ราย ซึ่งกรมได้มีการเตรียมการพัฒนาระบบให้อำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้น ทั้งด้านการยืนยันตัวตนนิติบุคคลและการใช้ระบบงาน รวมถึงการเชื่อมโยงเพื่อ สร้างความพร้อมในการดำเนินธุรกิจให้แก่ SME ทั้งด้านการเงินและซอฟแวร์ นอกจากนี้ได้มีการประชุมหารือร่วมกับกรมสรรพากร สำนักงานประกันสังคม  สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และสำนักงาน ก.พ.ร. เพื่อหาแนวทางในการรวมขั้นตอนการจดทะเบียนนิติบุคคล จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และขึ้นทะเบียนลูกจ้าง เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อลดขั้นตอนและยกระดับ Ease of doing และจะให้บริการสำเนาเอกสารทะเบียน นิติบุคคลรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ของนิติบุคคลที่จดทะเบียนผ่านระบบ e-Registration ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2562

การบริการหนังสือรับรองข้อมูลนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์และผลักดันการใช้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ยกระดับการเป็นหน่วยงานรัฐบาลดิจิทัล โดยการใช้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Digital Signature) มาให้บริการ โดยบริการ e-Service การบริการขอหนังสือรับรองผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งขอรับเอกสารได้ผ่านช่องทาง Walk in EMS  Delivery การออกหนังสือรับรองรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Certificate File) โดยจะขยายการให้บริการสู่การบริการหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติ  ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2562  และสมาคมการค้า หนังสือรับรองภาษาอังกฤษ  ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2562

ทั้งนี้ การขอรับบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากผ่านทาง www.dbd.go.th แล้ว สามารถขอรับบริการผ่านทาง Application DBD e- Service ระบบ Android และ IOS ในเดือนมีนาคม 2562

DBD e-Accounting โปรแกรมบัญชีเพื่อช่วยเหลือ SMEs

กรมได้ดำเนินการแจก“โปรแกรม e-Accounting for SMEs” ช่วยเหลือ SMEs สามารถบริหารจัดการร้านค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการบันทึกข้อมูลซ้ำซ้อน ลดระยะเวลา ประหยัดค่าใช้จ่ายทางธุรกิจ สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น โดยไม่มีค่าใช้จ่ายได้ทาง Play store ซึ่งมีการพัฒนาซอฟแวร์บัญชีและอยู่ระหว่างการทดสอบ จำนวน 4 ราย เชื่อมต่อกับการนำส่งงบการเงินทางระบบ DBD e-Filing ผ่านทาง DBD Connect ซึ่งเป็นการร่วมกับผู้พัฒนาซอฟแวร์บัญชีเพื่อเชื่อมโยงระบบงานบัญชีเข้าสู่งบการเงินทางออนไลน์ได้โดยทันที  ซึ่งขณะนี้มีอยู่จำนวน 15 ราย

Total Solution for SMEs

การขับเคลื่อน SMEs ไทยด้วยนวัตกรรมออนไลน์ โดยส่งเสริมให้ธุรกิจเข้าถึงเทคโนโลยีทางการบัญชี และบริหารจัดการร้านค้าได้โดยง่าย ให้ได้รับข้อมูลในการบริหารจัดการธุรกิจแบบถูกต้อง ครบวงจร เปลี่ยน Traditional SMEs เป็น Smart SMEs ซึ่งกรมได้รวบรวมโปรแกรมที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทั้ง 3 ภาคส่วน ไว้ด้วยกันคือ โปรแกรมสำนักงาน (Office)  โปรแกรมหน้าร้าน (POS) โปรแกรมบัญชี online (Cloud Accounting) โดยผู้ประกอบการ สามารถจัดทำบัญชีเบื้องต้นได้เองก่อนส่งข้อมูลให้ผู้ทำบัญชีตรวจสอบ ขณะนี้เปิดให้ SMEs ได้สมัครเข้าร่วมโครงการและเตรียมเปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการ (Grand Opening)

*********************************************