กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง แนะนำการรักษาพิษจากตะขาบควรรักษาให้ถูกวิธีเพื่อบรรเทาอาการที่จะเกิดขึ้นและป้องกันการติดเชื้อทางผิวหนัง กรณีถ้ามีอาการแพ้รุนแรงเกิดขึ้นควรไปพบแพทย์โดยทันที
นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีข่าวเผยแพร่ว่า พบชายโดนตะขาบกัดแล้วนำคางคกมารักษาโดยการถูบริเวณแผลนั้น มีความเสี่ยงต่อการเกิดผิวหนังติดเชื้อได้มากขึ้นได้อีกด้วย โดยทั่วไปแล้วพิษของตะขาบจะมีฤทธิ์ทำลายระบบประสาท เละจะมีอาการทางผิวหนังที่พบได้บ่อยหลังโดนตะขาบกัด คือ อาการปวด บวม แดง หรือมีเหงื่อออกเฉพาะที่ นอกจากนี้อาจพบมีเลือดออกในบริเวณที่ถูกกัดได้ และโดยมากผู้ที่ถูกตะขาบกัดมักเกิดอาการชา ซึ่งเป็นผลมาจากพิษของตะขาบดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น หากไม่ได้รับการดูแลแผลที่ดี อาจลุกลามเกิดเป็นแผลลึกหรือมีการติดเชื้อตามมาได้ อย่างไรก็ดีในบางกรณีที่พบได้ไม่บ่อยนัก การถูกตะขาบกัดอาจทำให้เกิดอาการรุนแรงต่อระบบอื่น ๆ ในร่างกายได้ เช่น ภาวะหัวใจขาดเลือด ภาวะกล้ามเนื้อสลาย หรือไตวาย
แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การรักษาเบื้องต้นหลังถูกตะขาบกัด ควรทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาดก่อน หลังจากให้ปฏิบัติ ดังนี้
1. ประคบด้วยน้ำแข็ง หรือแช่บริเวณที่ถูกกัดในน้ำอุ่นเพื่อลดอาการปวด
2. ใช้ยาแก้ปวดชนิดรับประทานหรือสเปรย์ลดอาการปวด
3. รับประทานยาแก้แพ้กลุ่ม antihistamines
4. ผู้ที่ถูกตะขาบกัดควรได้รับการฉีดวัคซีนบาดทะยัก
5.รับประทานยาฆ่าเชื้อหากพบว่ามีการติดเชื้อที่ผิวหนังร่วมด้วย
ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง ให้ความเห็นว่าการใช้วิธีนำคางคกหรือสิ่งอื่นใดมาถูหรือพอกบริเวณที่ถูกกัดนั้น จะยิ่งทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ผิวหนังได้มากขึ้น หากมีความผิดปกติหรืออาการแพ้รุนแรงเกิดขึ้นหลังถูกตะขาบกัด แนะนำให้รีบไปพบแพทย์แพทย์ทันที
*****************************************
#กรมการแพทย์ #สถาบันโรคผิวหนัง #พิษตะขาบ
-ขอขอบคุณ-
28 มกราคม 2565