พาณิชย์’ จับมือ Shopee ดันสินค้าชุมชนไทยเข้าตลาดอี-คอมเมิร์ซ ภายใต้แคมเปญ “ของดีออนไลน์ by DBD” คัดสรรสินค้าชุมชน ดี เด่น ดัง จากทั่วประเทศ มาจำหน่ายบนแพลตฟอร์มของ Shopee พร้อมเปิดให้บริการ 13 มีนาคม นี้ ตั้งเป้ายอดขาย 100 ล้านบาทต่อปี
กระทรวงพาณิชย์ จับมือ Shopee แพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซชื่อดังในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลงนามความร่วมมือส่งเสริมและผลักดันสินค้าชุมชนของไทยขยายช่องทางการตลาดผ่านอี-คอมเมิร์ซ โดยคัดสรรสินค้าชุมชน ดี เด่น ดัง จากทั่วประเทศ มาจำหน่ายบนแพลตฟอร์มของ Shopee ภายใต้แคมเปญ “ของดีออนไลน์ by DBD” เพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการชุมชนทั่วประเทศให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล ยกระดับสินค้าให้เป็นที่รู้จัก เพิ่มยอดขาย สร้างรายได้ เจาะตลาดลูกค้าทุกกลุ่ม สร้างความเข้มแข็งและฐานที่มั่นให้ผู้ประกอบการไทยระยะยาว พร้อมเปิดให้บริการแล้วตั้งแต่ 13 มีนาคม 2562 นี้เป็นต้นไป ตั้งเป้ายอดขาย 100 ล้านบาทต่อปี
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการลงนาม ความร่วมมือการส่งเสริมสินค้าชุมชนไทยเข้าสู่ช่องทางการตลาดอี-คอมเมิร์ซ กับ นายเทอเรนซ์ แพง ประธานฝ่ายปฏิบัติการ Shopee ว่า “การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ระหว่างกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กับ บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด ในวันนี้ เป็นการเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลและส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคง โดยภารกิจที่ได้ดำเนินการสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติที่มุ่งยกระดับผู้ประกอบธุรกิจอี-คอมเมิร์ซของไทยให้เติบโตและสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล พร้อมก้าวสู่ Thailand 4.0 ด้วยความแข็งแกร่ง”
“ความร่วมมือฯ ในครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้แคมเปญ “ของดีออนไลน์ by DBD” โดยกรมฯ และ Shopee ได้ร่วมกันคัดสรรสินค้าชุมชนที่มีคุณภาพดีจากผู้ประกอบการชุมชนทั่วประเทศมาจำหน่ายบนแพลตฟอร์มของ Shopee พร้อมให้การสนับสนุนการทำการตลาด (Marketing) แนะนำวิธีการจัดการร้านค้า (Operation) และเป็นพี่เลี้ยงแก่ผู้ประกอบการ ซึ่งผู้สนใจสามารถค้นหาร้านค้าผู้ประกอบการฯ ดังกล่าวได้ที่ www.shopee.co.th/dbdonline ปัจจุบันมีสินค้าชุมชนที่พร้อมจำหน่ายบนแพลทฟอร์มของ Shopee แล้วจำนวน 5 หมวดหมู่สินค้า 473 รายการ แบ่งเป็น 1) อาหารและเครื่องดื่ม 430 รายการ 2) สุขภาพและความงาม 29 รายการ 3) กระเป๋า 2 รายการ 4) ของเล่น/สินค้าแม่และเด็ก 1 รายการ และ 5) อุปกรณ์เครื่องเขียนและหนังสือ 1 รายการ โดยคาดว่าภายในสิ้นปีนี้ จะมีสินค้าชุมชนจากทั่วประเทศขึ้นจำหน่ายบนแพลตฟอร์ม Shopee จำนวนไม่น้อยกว่า 3,000 รายการ และตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 100 ล้านบาทต่อปี”
“นี่จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะได้ร่วมมือกันในการขยายช่องทางการตลาดและ สร้างมูลค่าทางการค้าให้แก่ผู้ประกอบการชุมชนของไทย ซึ่งจะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเติบโตสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กับ Shopee โดย Shopee จะให้การสนับสนุนเครื่องมือทางการตลาดออนไลน์ต่างๆ เพื่อให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าสามารถนำไปต่อยอดในการให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการอื่นๆ ทั่วประเทศ เป็นการสร้างรากฐานการทำธุรกิจออนไลน์เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันแก่ผู้ประกอบการไทย”
นายเทอเรนซ์ แพง ประธานฝ่ายปฏิบัติการ Shopee กล่าวว่า “Shopee มีความมุ่งมั่นในการสนับสนุนวิสัยทัศน์หน่วยงานภาครัฐของไทยในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจดิจิทัล อันมีผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) และผู้ประกอบธุรกิจไทยเป็นกำลังสำคัญในการสร้างรากฐานเศรษฐกิจในประเทศ สิ่งสำคัญคือ การให้การสนับสนุนทางด้านทรัพยากรที่จำเป็นให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อแนะนำแนวทางและช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวเข้ากับโลกดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยในปีนี้ Shopee ให้ความสำคัญในการพัฒนาและริเริ่มกิจกรรมเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ และมีความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ครั้งนี้”
“เพื่อเฉลิมฉลองความร่วมมือในครั้งนี้ Shopee และ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดโอกาสให้ธุรกิจรายย่อยของคนไทยสามารถขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ภายใต้แคมเปญ “ของดีออนไลน์ by DBD” ได้ โดยจะพบกับสินค้าชุมชนและสินค้าเอสเอ็มอีคุณภาพดีที่ได้คัดสรรจากผู้ประกอบการทั่วประเทศให้ได้เลือกช้อปปิ้งกันอย่างจุใจ ในราคาพิเศษลดสูงสุด 20% ตั้งแต่วันที่ 13 – 20 มีนาคม นี้ ที่ www.shopee.co.th/dbdonline”
ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA พบว่า ปี 2560 ประเทศไทยมีมูลค่าอี-คอมเมิร์ซทั้งสิ้นจำนวน 2,812,592.03 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นมูลค่าประเภท B2B จำนวน 1,675,182.23 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 59.56 รองลงมา เป็นมูลค่าประเภท B2C จำนวน 812,612.68 ล้านบาท หรือร้อยละ 28.89 และส่วนที่เหลือ 324,797.12 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.55 เป็นมูลค่าตามธุรกิจประเภท B2G ซึ่งเมื่อเทียบมูลค่าอีคอมเมิร์ซของปี 2560 กับปี 2559 จะพบว่ามูลค่าของประเภท B2B มีการเติบโตขึ้นร้อยละ 8.63 และประเภท B2C เติบโตขึ้นร้อยละ 15.54
***********************************
ที่มา : กองพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า