วันที่ 27 ม.ค. 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำคณะสื่อมวลชน เยี่ยมชมและสนับสนุน “โครงการศึกษาแนวทางการนำเชื้อเพลิงขยะ (RDF) จากมูลฝอยชุมชนมาใช้ประโยชน์ในกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก (SMEs) หรืออุตสาหกรรมขนาดเล็ก”ของ ผศ.ดร.พรรษา ลิบลับ แห่งสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจาก วช. ที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด โคราชแสงสุวรรณ พ็อตเทอร์รี่ ต.ด่านเกวียน อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา ผู้ผลิตเครื่องปั้นดินเผา/เซรามิก เพื่อเป็นทางเลือกเสริมในการใช้เชื้อเพลิงขยะร่วมกับเชื้อเพลิงชีวมวลเดิมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผศ.ดร.พรรษา ลิบลับ หัวหน้าโครงการ เล่าว่า ในปัจจุบันได้มีการสนับสนุนให้มีการคัดแยกขยะ เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะการจัดการขยะที่ปลายทางที่ต้องการนำมาเป็นเชื้อเพลิง (Refuse-derived Fuel, RDF) อย่างไรก็ตาม เชื้อเพลิงขยะ RDF ที่ได้ก็ยังประสบปัญหาเรื่องการนำไปใช้ประโยชน์ เนื่องจากการส่งไปโรงงานปูนซีเมนต์ หรือโรงไฟฟ้าขยะ ซึ่งมีอยู่จำกัด เพียงไม่กี่สิบแห่งในประเทศ ทำให้การขนส่งมีค่าใช้จ่ายสูง และไม่คุ้มค่า ขยะ RDF ที่มีและกระจายอยู่ทั่วประเทศจึงยังถูกกองทิ้งไว้ที่โรงงานคัดแยก ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น นักวิจัยจึงได้ศึกษาแนวทางการนำเชื้อเพลิงขยะ (RDF) จากขยะมูลฝอยชุมชน มาใช้ประโยชน์ในกลุ่มธุรกิจ (SMEs) หรืออุตสาหกรรมขนาดเล็กให้มากขึ้น ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
โดยทั่วไป เชื้อเพลิงขยะมีอยู่หลายประเภท แต่เนื่องจากโรงงานคัดแยกทั่วไป จะคัดแยกออกมาได้เป็นเชื้อเพลิงขยะประเภทที่ 2 (RDF-2) ซึ่งมีคุณภาพต่ำ มีความชื้นสูง เมื่อนำไปใช้ประโยชน์ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจึงกังวลด้านผลกระทบของระบบ เนื่องจากจะทำให้อุณหภูมิของระบบลดลง และเกิดการปลดปล่อยมลพิษออกมา นอกจากนี้ยังมีกลิ่นเหม็นจากการย่อยสลายที่ยังไม่สมบูรณ์ จึงไม่เหมาะแก่การนำมาทดแทนการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลเดิมได้ ดังนั้น นักวิจัยจึงทดลองใช้ RDF-3 (ขยะมูลฝอยที่ผ่านการคัดแยกและมีความชื้นต่ำ ~ 20% w.b.) และ RDF-5 (ขยะมูลฝอยที่ผ่านการอัดแน่นให้มีลักษณะเป็นแท่ง/ก้อน) มาใช้กับอุตสาหกรรมต่าง ๆ แทน ได้แก่ โรงงานไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็ก อุตสาหกรรมผลิตเครื่องปั้นดินเผา/เซรามิก และอุตสาหกรรมการผลิตพื้นรองพาเลทไม้ ซึ่งใช้เชื้อเพลิงชีวมวล (เชื้อฝืน เศษวัสดุทางการเกษตร)ในการผลิตพลังงานอยู่แล้ว
จากการลงพื้นที่ใช้เชื้อเพลิงขยะ RDF-3 และ RDF-5 ร่วมกับ หจก.โคราชแสงสุวรรณ พ็อตเทอร์รี่ โดยภาพรวม พบว่า เชื้อเพลิง RDF สามารถใช้ร่วมกับเชื้อเพลิงหลักชีวมวลที่โรงงานใช้อยู่ได้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีการเผาไหม้เดิมที่ใช้ มีการควบคุมปริมาณและอัตราการป้อนที่เหมาะสม เพื่อให้ได้สภาวะการทำงานของระบบเดิม เช่น อุณหภูมิ ความดัน เป็นต้น โดยเชื้อเพลิงขยะได้ในช่วงอุณหภูมิเตาตั้งแต่ 600 องศาเซลเซียสขึ้นไป จึงจะได้ประสิทธิภาพสูงที่สุด ในช่วงเวลาประมาณ 20 ชั่วโมง และใช้ RDFไป 200 กิโลกรัม ซึ่งไม่เกิดการปนเปื้อนของมลพิษบนผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา/เซรามิก จากการตรวจหาสารตะกั่ว แคดเมียม รวมทั้งการปลดปล่อยมลพิษ ทั้งที่เป็นของแข็ง และทางอากาศ โดยมีค่าไม่เกินมาตรฐานที่กำหนดไว้
ด้าน นายบุญฤทธิ์ พยุหไพศาล ผู้จัดการ หจก.โคราชแสงสุวรรณ พ็อตเทอร์รี่ เสริมว่า ทางโรงงานมีความยินดีอย่างยิ่งที่งานวิจัยด้านการใช้เชื้อเพลิงขยะได้ถูกนำมาทดสอบใช้ร่วมกับเชื้อเพลิงชีวมวลที่โรงงานใช้อยู่เดิมแล้ว ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ในอนาคตมองว่าเชื้อเพลิงขยะจะมีความจำเป็นมากขึ้น เนื่องจากการขยายตัวของสังคม ที่อาจทำให้โรงงานหาวัสดุเชื้อเพลิงชีวมวลมาใช้ได้ยากขึ้น มีต้นทุนการขนส่งสูงขึ้น หากมีการส่งเสริมใช้เชื้อเพลิงขยะจากโรงคัดแยกขยะในบริเวณใกล้เคียงมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทน ก็นับว่าเป็นทางเลือกที่ดี สร้างความมั่นคงให้กับผู้ประกอบการ ทั้งนี้ ยังคงติดขัดด้านต้นทุน RDFที่ยังสูงอยู่ และปัจจัยอื่นๆ อีก ที่รอการสนับสนุนและพัฒนาต่อไป
นอกจากนี้ จากการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของการปรับปรุงคุณภาพ RDF-2 เป็น RDF-3 RDF-4 และ RDF-5 ในขนาด 20 ตัน/วัน เพื่อให้เหมาะสมกับการป้อนเข้าโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น แสดงให้เห็นกระแสเงินสดสุทธิการลงทุน 17.77 ล้านบาท และการคืนทุนในเวลา 6.64 ปี เมื่อเทียบกับระยะเวลาโครงการ 10 ปี ซึ่งหากสามารถนำเอา RDF มาใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น ก็จะเป็นการลดปริมาณขยะลงได้ ซึ่งผู้ประกอบการยินดีที่จะใช้ หากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งด้านต้นทุนวัตถุดิบที่สูงกว่าเชื้อเพลิงชีวมวล การพัฒนากฎหมาย มาตรการ มาตรฐานต่าง ๆ ส่งเสริมให้มีโรงคัดขยะเพิ่มมากขึ้น และสร้างกลไกสนับสนุนเงินทุน เปิดตลาดกลางให้กับกลุ่ม SMEs ให้สามารถรับเอาเชื้อเพลิงขยะไปใช้ได้ง่ายขึ้น นำไปสู่การปรับปรุง ออกแบบเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมต่าง ๆให้เหมาะสมกับการใช้เชื่อเพลิง RDF ต่อไป ซึ่งนับเป็นอีกแนวทางร่วม ที่จะช่วยส่งเสริมการผลิตพลังงานจากขยะมูลฝอยชุมชน เพื่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดียิ่งขึ้น” ผศ.ดร.พรรษา กล่าว