อาเซียนเดินหน้าอำนวยความสะดวกการค้าตามแผน AEC Blueprint 2025 เร่งสรุปผลจัดทำความตกลงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ความตกลงการค้าเสรีบริการอาเซียนฉบับใหม่ และ RCEP ภายในปีนี้
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงผลการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 16 เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2561 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ว่า ได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ให้นำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวเพื่อติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินงานตามแผนพิมพ์เขียวประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ค.ศ. 2025 (AEC Blueprint 2025) ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณามอบแนวทางเพื่อสรุปผลในประเด็นสำคัญ อาทิ การจัดทำความตกลงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียนเพื่ออำนวยความสะดวกการประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนระหว่างสมาชิกอาเซียน และการจัดทำความตกลงการค้าบริการของอาเซียน (ATISA) ซึ่งเป็นความตกลงการค้าบริการฉบับใหม่ที่มีความทันสมัย ซึ่งคาดว่าความตกลงทั้งสองฉบับจะสามารถสรุปผลสำเร็จและลงนามได้ภายในปีนี้
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบรายงานผลความคืบหน้าการดำเนินมาตรการของสมาชิกอาเซียนภายใต้ AEC Blueprint 2025 โดยคณะมนตรีฯ ได้มอบแนวทางในการแก้ปัญหาและความท้าทายสำหรับสมาชิกอาเซียนให้สามารถดำเนินการได้ตามแผนงาน และให้ความสำคัญต่อการดำเนินการเกี่ยวกับมาตรการที่มิใช่ภาษี (NTMs) ซึ่งขณะนี้อาเซียนอยู่ระหว่างการจัดทำเอกสารแนวทางในการจัดการกับ NTMs เพื่อให้สมาชิกอาเซียนใช้ประกอบการออกมาตรการที่โปร่งใส ง่ายต่อการปฏิบัติ และไม่บิดเบือนทางการค้า รวมทั้งตระหนักถึงเรื่องการปรับตัวของอาเซียนเพื่อรองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 โดยเห็นว่าสมาชิกอาเซียนที่มีความพร้อมในเรื่องนี้ควรแบ่งปันประสบการณ์กับสมาชิกอาเซียนอื่นๆ
นางสาวชุติมา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับความสัมพันธ์กับประเทศภายนอกอาเซียน คณะมนตรีฯ เห็นร่วมกันว่าอาเซียนควรมีการตระเตรียมและกำหนดท่าทีร่วมกันในประเด็นใหม่ที่เกี่ยวพันกับการค้าซึ่งประเทศคู่เจรจาเสนอ เช่น แรงงานและสิ่งแวดล้อม พลังงาน พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้ในการเจรจาความตกลงกับประเทศต่างๆ ในอนาคต และที่ประชุมตกลงให้มีการจัดประชุมเพื่อแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับความตกลง Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership หรือ CPTPP ระหว่างสมาชิกอาเซียนที่เป็นภาคีความตกลงดังกล่าวแล้วให้กับสมาชิกอาเซียนที่ยังไม่เป็นภาคีความตกลงฉบับนี้
ในระหว่างการประชุมครั้งนี้ คณะมนตรีฯ ได้จัดทำรายงานเพื่อเสนอต่อผู้นำอาเซียน ซึ่งประกอบด้วยความคืบหน้าการดำเนินงานที่สำคัญภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในช่วงที่ผ่านมา โดยมุ่งเน้นความสำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่ (1) เร่งรัดประเทศสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เพิ่มความพยายามเพื่อให้สามารถสรุปผลการเจรจาความตกลง RCEP ภายในปี 2561 (2) มุ่งดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายวิสัยทัศน์ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี ค.ศ. 2025 รวมทั้งการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 โดยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน และ (3) ส่งเสริมการประสานงานระหว่างองค์กรรายสาขาภายใต้เสาเศรษฐกิจ และระหว่างสามเสาประชาคมเพื่อจัดการกับประเด็นคาบเกี่ยว
นอกจากนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนยังได้หารือเกี่ยวกับประเด็นสำคัญของการเจรจาภายใต้ RCEP ด้านการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน และกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า โดยมอบหมายให้คณะเจรจาสำรวจแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพในการเจรจา เช่น การหารือสองฝ่ายระหว่างประเทศที่มีความอ่อนไหวระหว่างกัน และการต่อรอง แลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างสาขาเพื่อสร้างความสมดุลในภาพรวมการเจรจา ซึ่งการเจรจาจะมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้นในการประชุมคณะกรรมการเจรจา RCEP ครั้งที่ 22 ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2561 โดยคณะเจรจาจะประเมินความคืบหน้าอีกครั้งในการประชุมรัฐมนตรี RCEP สมัยพิเศษ ครั้งที่ 5 ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2561 ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพ นอกจากนี้ ยังมีการหารือเกี่ยวกับการที่ประเทศต่างๆ รวมทั้งกลุ่มประเทศแสดงความสนใจที่จะเข้าเป็นสมาชิก RCEP ซึ่งต้องมีการหารือกลไกในการรับสมาชิกใหม่ต่อไป