นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า หรือ Technical Barriers to Trade (TBT) Committee ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ไทยได้ร่วมกับสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป เรียกร้องให้เวียดนามยกเลิกมาตรการควบคุมการนำเข้ารถยนต์ และร่วมกับมาเลเซีย อินโดนีเซีย โคลอมเบีย เรียกร้องให้สหภาพยุโรปทบทวนนโยบายที่จะยกเลิกการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพจากน้ำมันปาล์ม
นางอรมน กล่าวว่า จากการที่เวียดนามออกระเบียบ Decree 116/2017 บังคับใช้มาตรการควบคุมการนำเข้ารถยนต์ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2561 โดยกำหนดให้รถยนต์ที่นำเข้าทุกล๊อตต้องตรวจสอบมาตรฐานสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย ซึ่งถือเป็นการเลือกปฏิบัติที่เข้มงวดกว่ารถยนต์ที่ผลิตในเวียดนาม และไม่สอดคล้องกับความตกลง WTO ทำให้ล่าช้าและผู้ส่งออกมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ตลอดจนกระทบต่อการส่งออกรถยนต์จากไทยไปเวียดนาม ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญ และมียอดส่งออกรถยนต์จากไทยไปเวียดนาม ในปี 2560 จำนวน 37,000 คัน มูลค่ารวม 20,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลไทย และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้หยิบยกปัญหานี้ขึ้นหารือกับเวียดนามในทุกเวที ทั้งในระดับพหุภาคี ภูมิภาค และทวิภาคี เพื่อให้เร่งแก้ไขปัญหาและดำเนินการให้สอดคล้องกับ WTO โดยขณะนี้แม้ว่าจะมีสัญญาณเชิงบวก เนื่องจากรถยนต์จากไทยประมาณ 2,000 คัน สามารถเข้าไปในประเทศเวียดนามได้แล้ว แต่ปัจจุบันเวียดนามมีห้องปฏิบัติการทดสอบมลพิษและความปลอดภัยเพียงแห่งเดียว จึงอาจเกิดความล่าช้าและสร้างความไม่แน่นอนให้กับผู้ส่งออก กระทรวงพาณิชย์จึงได้ผลักดันให้เวียดนามแก้ปัญหาให้ไทยต่อไป รวมทั้งได้ร่วมกับสำนักมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นเรียกร้องเวียดนามในการประชุม TBT Committee ที่ผ่านมา และเตรียมที่จะยกประเด็นนี้ขึ้นหารือกับเวียดนามในการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ไทย – เวียดนาม ที่จะจัดขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อให้การส่งออกรถยนต์ไทยไปเวียดนามกลับสู่ภาวะปกติได้โดยเร็ว
นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการประชุมคณะกรรมการ TBT ไทยยังได้ร่วมกับอินโดนีเซีย โคลอมเบีย คอสตาริกา กัวเตมาลา และไนจีเรีย สนับสนุนถ้อยแถลงของมาเลเซียที่แสดงความกังวลกับแผนแก้ไขกฎหมายพลังงานทดแทน (Renewal Energy Directive ฉบับที่ 2009/28/ EC) ของสหภาพยุโรป ที่จะยกเลิกการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพที่ผลิตจากน้ำมันปาล์ม ในปี 2564 ซึ่งถือเป็นการดำเนินงานที่เลือกปฏิบัติต่อสินค้าน้ำมันปาล์ม ขณะที่ยังอนุญาตให้ใช้น้ำมันพืชอื่นๆ ได้ถึงปี 2569 แม้ว่าสหภาพยุโรปจะชี้แจงว่า มาตรการดังกล่าวอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาและยังไม่ได้สรุปผล รวมทั้งปริมาณการส่งออกน้ำมันปาล์มของไทยไปสหภาพยุโรปมีปริมาณไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับการส่งออกน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซียและมาเลเซียไปสหภาพยุโรป โดยในปี 2560 ไทยส่งออกไปสหภาพยุโรป 2,486 ตัน ขณะที่อินโดนีเซียและมาเลเซียส่งออกไปสหภาพยุโรป 4,000 ล้านตัน และ 1,800 ล้านตัน ตามลำดับ ทั้งนี้ ไทยจะร่วมกับประเทศสมาชิกอื่นๆ ใน WTO เรียกร้องให้สหภาพยุโรปทบทวนมาตรการดังกล่าว และติดตามประเด็นนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป
ทั้งนี้ การประชุมคณะกรรมการว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้าของ WTO เป็นการประชุมที่จัดขึ้นเป็นประจำ ปีละ 3 ครั้ง เพื่อติดตามการดำเนินการของประเทศสมาชิก WTO ในเรื่องการออกกฎระเบียบทางเทคนิค มาตรฐาน และกระบวนการตรวจสอบรับรองให้เป็นไปตามความตกลง WTO และเปิดโอกาสให้สมาชิก WTO หยิบยก
ข้อกังวลทางการค้าขึ้นหารือกัน เพื่อแก้ไขปัญหาทางการค้าและการส่งออก