กรมการแพทย์แผนไทยฯ จับมือ วิสาหกิจชุมชนเกษตรกรผู้แปรรูปผลผลิตการเกษตรบ้านดอน จังหวัดสระบุรี ลงนาม MOU การปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ สุขภาพ และเศรษฐกิจ หวังใช้ช่อดอกกัญชาผลิตยากัญชาทางการแพทย์ให้เพียงพอเพื่อผู้ป่วย และฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด
วันที่ 26 มกราคม 2565 ณ ปั๊มบางจากบ้านลำ ถนนสุวรรณศร ตำบลบ้านลำ อำเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี ทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ลงนาม MOU กับ วิสาหกิจชุมชนเกษตรกรผู้แปรรูปผลผลิตการเกษตรบ้านดอน สระบุรี ลงนามความร่วมมือเรื่องการปลูกกัญชาทางการแพทย์ ภายใต้โครงการ ต้นแบบปลูกพืชกัญชาทางการแพทย์ สุขภาพ และเศรษฐกิจ โดยมี นายแพทย์ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นายแพทย์กฤษณ์ สกุลแพทย์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระบุรี เข้าร่วม
นายแพทย์ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข ผลักดันกฎหมายเพื่อปลดล๊อคกัญชาจากยาเสพติดให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และสามารถนำมาสร้างเศรษฐกิจได้ แต่การปลูก หรือการผลิตเพื่อให้กัญชานำมาใช้ทางการแพทย์ สุขภาพและสร้างเศรษฐกิจได้นั้น ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจ เพื่อการเพาะปลูกและใช้ประโยชน์อย่างถูกต้อง ปัจจุบันมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกัญชาที่ร่วมกันปลูกเพื่อที่นำผลผลิตจากส่วนต่าง ๆ ของกัญชามาใช้ประโยชน์ เช่น ช่อดอกนำมาใช้เป็นยาทางการแพทย์ หรือยาทางการแพทย์แผนไทย เช่น น้ำมันกัญชาสูตรอาจารย์เดชา น้ำมันกัญชาเมตตาโอสถ การุณย์โอสถ รักษาโรคสะเก็ดเงิน หรือนำมาบำบัดผู้ป่วยแบบประคับประคองในระยะท้าย
ส่วนตำรับยาแผนไทยที่มีส่วนผสมของกัญชา 16 ตำรับ เช่นยาน้ำมันสนั่นไตรภพ ยาศุขไสยาศน์ เพื่อรักษาในกลุ่มอาการโรคต่าง ๆ อาทิ โรคนอนไม่หลับ ทำให้เจริญอาหาร เป็นต้น ซึ่งตำรับยาเหล่านี้ถูกนำไปใช้ในสถานพยาบาลในกำกับของกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ สำหรับส่วนอื่น ๆ ของต้นกัญชา วิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกสามารถนำไปใช้ต่อยอดเพื่อสร้างเศรษฐกิจให้กลุ่มเกษตรกร หรือ ชุมชนได้ เช่น นำไปใช้ประกอบอาหารที่หลากหลาย นอกจากนี้นำไปผลิตเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งเข้ากับกระแสรักสุขภาพ (Health Conscious) ซึ่งนับเป็นเทรนด์ที่ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะช่วยแก้ไข และกระตุ้นเศรษฐกิจในสถานการณ์การระบาดโควิด 19 ในประเทศเราได้ด้วย
ส่วนกิจกรรมความร่วมมือภายใต้โครงการต้นแบบปลูกพืชกัญชาทางการแพทย์ สุขภาพ และเศรษฐกิจนี้ นอกจากทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกแล้ว ยังได้รับการสนับสนุนจากวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกและแปรรูปบุก, เกษตรอินทรีย์บ้านทุ่งแพม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นวิสาหกิจแห่งแรกๆ ของไทยที่มีองค์ความรู้ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ซึ่งพร้อมจะเป็นพี่เลี้ยงให้กับวิสาหกิจอื่นที่ต้องการขานรับนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์
นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่าภายหลังกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษอนุญาตให้นำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ได้ ทางกรมฯได้รวบรวมและคัดกรองตำรับยาที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบทั้งตำรับที่มาจากตำรายาซึ่งมีจำนวนมาก และตำรับที่แพทย์แผนไทย หรือหมอพื้นบ้านมีประสบการณ์ใช้ ประกาศเป็นตำรับยาที่ให้ใช้ได้ตามกฎหมาย นำสูตรตำรับมาผลิตและพัฒนาเป็นยาสำเร็จรูปกระจายในหน่วยบริการ ของรัฐทุกระดับทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นได้เข้าถึงยาอย่างกว้างขวางและทั่วถึง ในช่วงเวลาเกือบ 3ปี หลังจาก พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ มีตำรับยาแผนไทย ตำรับยาพื้นบ้านที่ถูกนำมาใช้มากกว่า 44 ตำรับ และจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับประโยชน์จากการใช้ยากัญชามากกว่า 80,000 ราย ยากัญชาเหล่านี้ต้องใช้วัตถุดิบกัญชาที่มีคุณภาพปลอดภัยในการผลิตยาสำหรับผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก
ปัจจุบันมีวิสาหกิจชุมชน สถาบันการศึกษาที่ได้รับอนุญาตปลูกกัญชาให้กับทางกรมฯ เพื่อนำมาผลิตเป็นยาแผนไทย และน้ำมันกัญชาอย่างถูกต้องตามกฎหมายกระจายอยู่ทุกภูมิภาคกว่า 230 ราย แต่ปริมาณผลผลิตช่อดอกกัญชาที่ได้ก็ยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตเป็นน้ำมันเมตตาโอสถที่ต้องใช้วัตถุดิบในปริมาณมาก ทางกรมฯ จึงส่งเสริม สนับสนุนและเปิดโอกาสให้ประชาชน ที่มีความพร้อมสามารถปลูกกัญชาได้ เพื่อใช้ทางการแพทย์ เป็นการสร้างความมั่นคงทางยาของประเทศลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นการช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจด้านอื่นๆ เช่น อาหาร เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร รวมถึงเป็นการพัฒนาวิชาการปลูกเพื่อพัฒนากัญชาสายพันธุ์ไทย
ทางด้าน นายแพทย์กฤษณ์ สกุลแพทย์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า จังหวัดสระบุรี เป็น 1 ใน 14 จังหวัดเมืองสมุนไพรของประเทศ และ 1 ในจังหวัดเมืองสมุนไพรของเขตสุขภาพที่ 4 ได้วางแผนการดำเนินงานขับเคลื่อนกัญชาทางการแพทย์ อย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง โดยต้นทางนั้น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพหลังเขา อ.มวกเหล็ก ร่วมกับ วิสาหกิจชุมชนเกษตรสมุนไพรพัฒนาก้าวหน้า อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ปลูกกัญชาทางการแพทย์ ภายใต้โครงการพัฒนากัญชาสำหรับการใช้ทางการแพทย์แผนไทย ซึ่งได้ดำเนินการปลูกและเก็บผลผลิตช่อดอกให้กับโรงงานเภสัชกรรมทหารเรียบร้อยแล้ว กลางทาง มีโรงผลิต GMP WHO ที่ได้ดำเนินการผลิตยากัญชาทางการแพทย์ สนับสนุนเขตสุขภาพที่ 4 คือ โรงพยาบาลเสาไห้เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา
ร้อมกันนี้ หน่วยบริการสาธารณสุขในจังหวัดสระบุรี เปิดให้บริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์ครบทั้ง 12 หน่วยบริการ เพิ่มการเข้าถึงบริการกัญชาทางการแพทย์ ส่วนก้าวต่อไป สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระบุรี ร่วมกับ หน่วยงานภาคีเครือข่าย ภาครัฐและเอกชน วางแผนการขับเคลื่อนกัญชาทางการแพทย์สู่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และร่วมกับมหาวิทยาลัย วางแผนการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพจาก วัตถุดิบกัญชา กัญชง และสมุนไพร ที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดสระบุรี