กระทรวงสาธารณสุข เผย วัคซีนโควิดเด็กอายุ 5-11 ปี ล็อตแรก 3 แสนโดสถึงประเทศไทยแล้วกำหนดฉีดที่โรงเรียน ระยะห่าง 8 สัปดาห์ เนื่องจากกระตุ้นภูมิคุ้มกันดี ผลข้างเคียงน้อยลง ส่วนเด็กที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มจะฉีดที่โรงพยาบาล ระยะห่างนานถึง 12 สัปดาห์ได้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของกุมารแพทย์เริ่มฉีดวันแรก 31 มกราคมนี้ที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติฯ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ ย้ำ แม้เด็กติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย แต่จำเป็นต้องฉีด โดยเฉพาะเด็กมีโรคประจำตัว เพื่อป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิต และลดภาวะ MIS-C
วันที่ 26 มกราคม 2565 ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และ นพ.อดิศัย ภัตตาตั้ง ผอ.สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี แถลงข่าวการจัดบริการวัคซีนโควิด 19 ในเด็กอายุ 5-11 ปี
นพ.โอภาสกล่าวว่า วัคซีนไฟเซอร์สำหรับเด็กอายุ 5-11 ปี ล็อตแรก 3 แสนโดส มาถึงไทยเมื่อเช้าวันนี้ (26 มกราคม) ได้ส่งวัคซีนและเอกสารให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบคุณภาพ จากนั้นจะส่งไปยังจุดฉีดทั่วประเทศต่อไป สำหรับวัคซีนที่เหลือจะทยอยส่งทุกสัปดาห์จนครบ 3.5 ล้านโดส ภายในไตรมาสแรก โดยวัคซีนสูตรเด็กอายุ 5-11 ปี จะฉีดคนละ 0.2 มิลลิลิตร (10 ไมโครกรัม) 1 ขวดฉีดได้ 10 คน มีข้อดีคือเก็บในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ได้นานขึ้นเป็น 10 สัปดาห์ หลังเปิดใช้แล้วต้องฉีดให้หมดภายใน 2-6 ชั่วโมง การฉีดเด็กทั่วไปที่โรงเรียน จะใช้ระบบเดียวกับการฉีดในเด็กมัธยมศึกษา กำหนดฉีด 2 เข็มห่างกัน 8 สัปดาห์ ส่วนเด็กที่มี
โรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ได้แก่
1.โรคอ้วน
2.โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง
3.หัวใจและหลอดเลือด
4.ไตวายเรื้อรัง
5.มะเร็งและภูมิคุ้มกันต่ำ
6.เบาหวาน
7.โรคพันธุกรรม
ทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทรุนแรง และเด็กที่มีพัฒนาการช้า จะฉีดที่โรงพยาบาล ระยะห่างสามารถนานได้ถึง 12 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของกุมารแพทย์ที่เป็นผู้รักษา ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนให้กับเด็กยังเป็นไปตามความประสงค์ของผู้ปกครองไม่มีการบังคับ
ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า เด็กที่ติดเชื้อโควิด 19 พบว่า 98% มักไม่มีอาการหรืออาการน้อยถึง แต่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีน โดยเฉพาะเด็กมีโรคประจำตัว เพื่อป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิต และลดกลุ่มอาการอักเสบหลายระบบ (MIS-C) ส่วนผลข้างเคียงหลังการฉีดในเด็กอายุ 5-11 ปี จากข้อมูลของสหรัฐอเมริกาที่ฉีดแล้ว9 ล้านคน อาจพบอาการปวดบวมแดงบริเวณที่ฉีด อาการไข้น้อยกว่าเด็กโต แต่อาการทั้งหมดหายได้ใน 2 วัน อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบพบ 11 คน แต่ไม่รุนแรงและรักษาหายทั้งหมด ทั้งนี้ ในอังกฤษและออสเตรเลียให้ฉีดห่างกัน 8 สัปดาห์ เนื่องจากภูมิคุ้มกันสูงขึ้น ผลข้างเคียงน้อยลง อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบยิ่งน้อยลงจนแทบไม่มีเลย การฉีดในโรงเรียนจึงแนะนำห่างกัน 8 สัปดาห์ ส่วนเด็กที่มีโรคประจำตัวและกลัวว่าจะติดเชื้อก่อน แนะนำประมาณ 4 สัปดาห์ แต่ไม่ควรเร็วกว่านั้น
ด้าน นพ.อดิศัย กล่าวว่า ประเทศไทยมีเด็กอายุ 5-11 ปี ประมาณ 5 ล้านคน ในจำนวนนี้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคประมาณ 9 แสนคน ซึ่งการฉีดวัคซีนโควิด 19 ในเด็กที่มีโรคประจำตัวเป็นไปตามความสมัครใจของผู้ปกครอง โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. จะบริหารวัคซีนตามจำนวนเด็กอายุ 5-11 ปีที่มีโรคประจำตัวและผู้ปกครองยินยอม, จำนวนวัคซีนที่ได้รับการจัดสรร และความพร้อมของบุคลากร รวมถึงกุมารแพทย์ที่ให้การดูแลแต่ละจังหวัด มีขั้นตอนประกอบด้วย
1.การคัดกรอง โดยกุมารแพทย์จะเป็นผู้ประเมิน หากกำลังมีไข้ ร่างกายอ่อนเพลีย หรือโรคประจำตัวอาการรุนแรงขึ้น อาการไม่คงที่ จะให้ชะลอการฉีดออกไปก่อน
2.การลงทะเบียน โดยมีการเซ็นใบยินยอมของผู้ปกครอง
3.การฉีดวัคซีน ควรจัดสถานที่มิดชิด มีม่านหรือฉากกั้น หรือฉีดในห้อง เพื่อลดผลกระทบด้านจิตใจ เนื่องจากเด็กเล็กเมื่อเห็นเด็กถูกฉีดแล้วร้อง อาจเกิดอุปาทานหมู่ ยอมรับการฉีดยากขึ้น
4.หลังฉีดรอดูอาการ 30 นาที เมื่อกลับบ้านแล้วไม่ควรออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ใช้แรง 1 สัปดาห์
ทั้งนี้ หลังฉีดวัคซีนแล้วเด็กมีอาการผิดปกติที่ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลใกล้บ้านเพื่อประเมินอาการคือ
1.กลุ่มโรคหัวใจในช่วง 2-7 วัน ได้แก่ เจ็บหน้าอก หายใจเร็ว เหนื่อยง่าย ใจสั่น
2.กลุ่มอาการอื่น คือไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส ปวดศีรษะรุนแรง อาเจียน กินไม่ได้ ซึมหรือไม่รู้สึกตัว ซึ่งทั่วประเทศมีกุมารแพทย์กว่า 2 พันคน สามารถประเมินอาการ ให้การรักษาและส่งต่อไปโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป รวมถึงสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี หรือโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย
สำหรับการเริ่มต้นฉีดวัคซีนเด็กอายุ 5-11 ปี ที่มีโรคประจำตัว วันที่ 31 มกราคมนี้ ที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เป็นการฉีดเพื่อทดสอบระบบ โดยก่อนมาฉีดจะมีการโทรศัพท์ให้ข้อมูลผู้ปกครองและสอบถามความสมัครใจ หลังฉีดจะมีคิวอาร์โคดให้ประเมินผลข้างเคียงและให้ความรู้การดูแลหลังฉีด หากมีผลข้างเคียงสามารถเข้าโรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือติดต่อมายังสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีผ่านทางไลน์และสายด่วน 1415 ซึ่งมีการจัดระบบทางด่วนในรายที่สงสัยรุนแรงเพื่อเข้ารับการดูแลต่อไป
************************************** 26 มกราคม 2565