สธ. เปิดคอร์สติวเข้มกฎหมายกิจการดูแลผู้สูงอายุ

กระทรวงสาธารณสุขเปิดคอร์สติวเข้มกฎหมายกิจการการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง แก่ภาคีเครือข่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ กทม. และ อสม. ร่วมกันขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมาย เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ประกอบกิจการและผู้เกี่ยวข้องให้ปฏิบัติตามมาตรฐานได้อย่างถูกต้องเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับบริการที่มีความปลอดภัย

วันที่ 26 มกราคม 2565 นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า หลังจากกฎกระทรวงกิจการการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง ที่ออกตามพระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559 มาตรา 3(3) มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2564 พบว่ายังมีผู้ประกอบการบางส่วนที่ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจในกฎหมายดังกล่าว จึงยังไม่ได้ยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการให้ถูกต้อง ทั้งนี้ จากที่ได้รับรายงานพบว่าทั่วประเทศมีกิจการดูแลผู้สูงอายุฯ กว่า 3,000 แห่ง ขณะนี้มีกิจการมายื่นขออนุญาตประกอบกิจการในระบบ เป็นจำนวนกว่า 700 แห่ง โดย 90% เป็นกิจการประเภทที่มีการดูแลและประคับประคองผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิงโดยมีการพักค้างคืน ส่วนการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการฯนั้น ขณะนี้มียื่นขอขึ้นทะเบียนฯเข้ามาในระบบกว่า 6,500 ราย คาดว่าทั้งประเทศมีผู้ให้บริการฯ 20,000 ราย ด้านผู้ดำเนินการในกิจการดูแลผู้สูงอายุฯ มีการจัดสอบไปแล้วรวม 2 ครั้ง มีผู้สอบผ่านและยื่นขอใบอนุญาตเป็นผู้ดำเนินการฯแล้ว กว่า 1,500 ราย

ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับผู้บังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้มีการกวดขันกิจการที่ยังอยู่นอกระบบ ให้มายื่นขอใบอนุญาตให้ถูกต้อง เพื่อคุ้มครองประชาชนให้ได้รับบริการที่มีมาตรฐาน และมีความปลอดภัย นอกจากนี้ด้วยศักยภาพของ อสม. กว่า 1 ล้าน 5 หมื่นคน สามารถเข้าถึงประชาชนได้ทุกครัวเรือน จึงขอความร่วมมือมาเป็นเครือข่าย เป็นกระบอกเสียง ให้ผู้ประกอบการ ผู้ดำเนินการ และผู้ให้บริการมายื่นขออนุญาต ขอขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย และสามารถ ให้ความรู้ คำแนะนำการเลือกสถานดูแลผู้สูงอายุที่มีมาตรฐานแก่ประชาชนได้อย่างถูกต้อง

ด้านนายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรม สบส. ได้จัดอบรมแก่ผู้ประกอบการ ผู้ดำเนินการ และผู้ให้บริการในสถานประกอบกิจการการดูแลผู้สูงอายุฯ โดยมุ่งหวังให้กลุ่มดังกล่าวมีความรู้ ความเข้าใจ เรื่องมาตรฐานของกิจการฯ บทกำหนดโทษ และขั้นตอน วิธีการ การยื่นขอใบอนุญาต ให้ผู้ที่อยู่นอกระบบ ได้เข้ามาอยู่ในระบบ เพื่อดูแลคุณภาพมาตรฐานให้ผู้รับบริการมีความปลอดภัย โดยสามารถยื่นคำขอใบอนุญาต และขอขึ้นทะเบียน ผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ esta.hss.moph.go.th อัตราค่าธรรมเนียมการขอใบอนุญาตประกอบกิจการจะคิดตามลักษณะของกิจการและขนาดพื้นที่ ต่ำสุด 500 บาท สูงสุด 10,000 บาท แต่ยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับกิจการที่ดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐ มูลนิธิ หรือองค์การสาธารณกุศล ส่วนใบอนุญาตเป็นผู้ดำเนินการ มีค่าธรรมเนียมฉบับละ 1,000 บาท(ตลอดชีพ) สำหรับการขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการ ไม่มีค่าธรรมเนียมแต่อย่างใด

นอกจากนี้กรม สบส.ยังจัดอบรมให้แก่เครือข่ายบุคลากรด้านกฎหมาย ได้แก่ เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่สำนักงานเขต กทม.รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ อสม. เพื่อให้มาร่วมกันขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมายในการคุ้มครองผู้บริโภค สำหรับกิจการการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิงที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากกรม สบส. สามารถสังเกตได้จากหลักฐาน 3 ประการคือ

1.ใบอนุญาตประกอบกิจการ

2. ใบรับรองการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการ

3.ใบอนุญาตเป็นผู้ดำเนินการในกิจการดูแลผู้สูงอายุฯที่กำหนด หากผู้ประกอบกิจการที่เปิดโดยไม่ได้รับอนุญาต จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ ผู้ที่ประกอบอาชีพเป็นผู้ดำเนินการโดยไม่ได้รับอนุญาต จะมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท

ทั้งนี้ หากพบเห็นหรือมีเบาะแสการดำเนินการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ อาทิ ร้านนวด สปา หรือสถานดูแลผู้สูงอายุ ที่ไม่ได้คุณภาพ มาตรฐาน หรือเป็นสถานประกอบการเถื่อน สามารถแจ้งได้ที่สายด่วนกรม สบส. 1426