‘สช.’ ชูแนวคิดสานพลัง ใช้ ‘สมัชชาสุขภาพ’ และ ‘ข้อตกลงร่วม’ ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน นำร่องสร้างพื้นที่ปลอดภัย ‘ราไวย์-ทับยาง’ เปิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย-ที่ดินทำกินร่วมกัน วางเป้าภายใน 2 ปี
จากกรณีข้อพิพาทเรื่องที่ดินระหว่างเอกชน หลังเกิดสึนามิเมื่อปี 2547 นายทุนเริ่มเข้าไปทำอุตสาหกรรมในชุมชนแถบอันดามัน ทำให้พื้นที่บ้านราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต ประมาณ 19 ไร่ ที่เป็นแหล่งอาศัยและที่ดินทำกินของชาวบ้านกว่า 1 พันชีวิต 256 ครัวเรือน และชุมชนบ้านทับยาง ต.ท้ายเหมือง อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา บนพื้นที่ทั้งหมด 100 กว่าไร่ 112 ครัวเรือน เรียกร้องและรักษาที่อยู่อาศัย-ที่ดินทำกินของตนเอง จนเกิดข้อพิพาทเรื่องที่ดินระหว่างเอกชน รวมกว่าร้อยคดีจนถึงปัจจุบัน
เมื่อวันที่ 23 – 25 มกราคม 2565 นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2565 – 2566 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ลงพื้นที่ชุมชนราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต และบ้านทับยาง ต.ท้ายเหมือง อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา ศึกษาบริบทข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหาข้อขัดแย้งในพื้นที่ กรณีข้อพิพาทเรื่องที่ดินระหว่างชุมชนกับเอกชน ภายใต้ “โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการและลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็น เพื่อจัดทำร่างข้อเสนอเชิงนโยบาย ประเด็นการปฏิรูประบบยุติธรรมชุมชนเพื่อสังคมสุขภาวะในประเทศไทย พื้นที่ภาคใต้ : ชาวเล การพัฒนาการท่องเที่ยวที่ไม่ยั่งยืนและการจัดการความขัดแย้งด้วยกระบวนการยุติธรรมชุมชน” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ประเด็นยุติธรรมชุมชนถูกกำหนดไว้เป็นยุทธศาสตร์ในการสร้างชุมชนเข้มแข็ง ซึ่งโจทย์สำคัญที่ต้องทำงานต่อคือ การประสานงานและการออกแบบอำนาจหน้าที่ให้ถูกต้องสมบูรณ์ และจะทำให้อย่างไรให้ทุกภาคส่วนก้าวข้ามความขัดแย้งเรื่องของการบุกรุกที่ดิน โดยสามารถพัฒนาเป็นพื้นที่แห่งวิถีชีวิตของชาวเลและพื้นที่แห่งท่องเที่ยวเพื่อสร้างเศรษฐกิจชุนชนได้ “การลงพื้นที่ครั้งนี้ทำให้เห็นประเด็นร่วมคือ พลังร่วมของอันดามัน หลังจากนี้ต้องทำการบ้านต่อ โดยสิ่งท้าทายสำคัญที่วางเป้าไว้ภายใน 1 – 2 ปีนี้ ต้องเกิดการสร้างพื้นที่กลาง ที่จะเป็นพื้นที่แห่งความเชื่อใจและปลอดภัยของทุกฝ่าย เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ด้วยเครื่องมือสมัชชาสุขภาพ หรือธรรมนูญสุขภาพที่เป็นข้อตกลงร่วม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
นายไมตรี จงไกรจักร มูลนิธิชุมชนไท กล่าวถึงกรณีข้อพิพาทเรื่องที่ดินระหว่างเอกชนว่า สิ่งสำคัญในการร่วมกันแก้ไขปัญหาคือ
(1) ต้องทำให้เกิดพลังชุมชน
(2) ต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นได้
(3) ต้องสร้างกำลังใจและความมั่นคงด้านอื่นๆ ด้วย
(4) ต้องสร้างแนวทางในเกิดการพึ่งพาตนเองโดยเฉพาะในภาวะวิกฤต
(5) ต้องมีกฎหมายหรือนโยบายรองรับ เช่น ภาษีที่ดิน พ.ร.บ.โฉนดชุมชน เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดต้องทำควบคู่กันไปพร้อมกับการหาวิธี กลไก ช่องทางต่างๆ และสร้างความเข้มแข็งรวมถึงความรู้ความเข้าใจในทุกภาคส่วน
ผศ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า แม้ในทางปฏิบัติจะไม่สามารถแก้ไขเชิงโครงสร้างหรือระบบได้ แต่พลังชุมชนจะสามารถสร้างจุดเปลี่ยนที่สำคัญ “เชื่อว่าปัญหาความขัดแย้งจะเป็นบทเรียนที่ทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง ซึ่งถือเป็นโอกาสและความท้าทายในการพัฒนา รวมถึงเป็นการขยายแนวคิดถอดบทเรียนการแก้ไขปัญหาด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน…นี่คือความเติบโตของสังคมที่จะได้เรียนรู้และก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน”