บพท. จับมือสถาบันการศึกษา 16 แห่ง ลุยต่อยอดงานหลังพบคนจนไม่ได้อยู่ในระบบจำนวนมาก นำความรู้ช่วยสร้างกลุ่มอาชีพบนฐานทรัพยากรท้องถิ่น ตั้งเป้าหมายยกระดับชีวิตชาวบ้าน 4 หมื่นคนใน 20 จังหวัดต้นแบบ พร้อมดึงรัฐ เอกชนท้องถิ่นเข้าร่วมเพื่อพัฒนาระบบให้ยั่งยืน
นายกิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า บพท. ได้ร่วมมือร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษา 16 แห่งทั่วประเทศดำเนินการตรวจค้นผู้เดือดร้อนมาแล้วใน 20 จังหวัดต้นแบบ ทำให้พบว่ามีผู้ประสบความยากลำบากไม่ได้รับความช่วยเหลือถึง 400,000 คน ครอบคลุมความจนหลากมิติ เช่น ด้านการเงิน อาชีพ ที่อยู่อาศัยและสุขภาวะ
“บพท. ร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ทำงานบนฐานข้อมูล TPMAP และได้พบว่ายังมีคนจนยากไร้อีกจำนวนหนึ่งที่ไม่อยู่ในฐานข้อมูล Big data ดังกล่าว บพท. จึงได้ออกแบบระบบข้อมูลซึ่งมีลักษณะเป็น Deep data ใช้ชื่อว่า“PPPconnext” ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ในการสอบทานและยืนยันเป้าหมายโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาคมพื้นที่ทั้งขบวน ประกอบด้วยองค์กรชุมชน ประชาสังคม ท้องถิ่น ท้องที่สถาบันวิชาการ และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ทำให้สามารถระบุกลุ่มเป้าหมายได้อย่างชัดเจน นำไปสู่การแก้ไขปัญหาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตรงจุด ตรงประเด็น และทันท่วงที ภารกิจนี้สะท้อนบทบาทสำคัญของมหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่ในการร่วมมือแก้ไขปัญหาความยากจนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะมีความพร้อมทั้งในด้านบุคลากร ข้อมูล ความรู้ เทคโนโลยี และกลไกภาคีเครือข่าย”
ในช่วงปีงบประมาณ 2563 – 2564 บพท. ได้มีการดำเนินแผนงานวิจัยการแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่นำร่อง 20 จังหวัดที่มีรายได้ภาคครัวเรือนต่ำที่สุดจากข้อมูลดัชนีความก้าวหน้าของคนปี 2562 ซึ่งแบ่งเป็นจำนวน 10 จังหวัดในปี 2563 ประกอบด้วย ปัตตานี อำนาจเจริญ แม่ฮ่องสอน ชัยนาท สุรินทร์ ยโสธร ศรีสะเกษ สกลนคร มุกดาหาร กาฬสินธุ์ และ 10 จังหวัดในปี 2564 ได้แก่ บุรีรัมย์ นราธิวาส อุบลราชธานี ลำปาง พัทลุง นครราชสีมา ร้อยเอ็ด พิษณุโลก เลย และยะลา ทั้งนี้ จากระบบการสอบทานอย่างละเอียด พบข้อมูลคนยากจน 7.8 แสนคน เพื่อส่งต่อเข้าระบบความช่วยเหลือขององค์กรภาครัฐ ในปี 2565
จึงเป็นการทำงานต่อยอดกระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการพัฒนาอาชีพ/ยกระดับคุณภาพชีวิต โดยมีเป้าหมายในการช่วยเหลือคนจนไม่น้อยกว่า 10,000 ครัวเรือน รวม 40,000 คน ซึ่งคนเหล่านี้ส่วนหนึ่งจะเข้าสู่ระบบสวัสดิการภาครัฐ และอีกส่วนหนึ่งทาง บพท. จะพัฒนาโมเดลแก้จนโดยร่วมมือกับสถาบันวิชาการ และกลไกภาคี วิเคราะห์ศักยภาพคนจนกลุ่มเป้าหมาย วิเคราะห์เทคโนโลยีความรู้พร้อมใช้ที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย ทั้งด้านการเกษตร การแปรรูป การตลาด วิสาหกิจชุมชน การพัฒนาระบบการเงินเพื่อสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ซึ่งในขณะนี้ได้ประมวลเป็นโมเดลแก้ไขปัญหาความยากจนในหลากหลายรูปแบบ ที่สอดคล้องกับบริบทภูมิสังคม เช่น กลุ่มสมุนไพร กลุ่มสิ่งแวดล้อม กลุ่มพัฒนาอาชีพ กลุ่มคลังแรงงาน กลุ่มสวัสดิการชุมชน เป็นต้น
“ทั้งนี้ สมุนไพรเป็นหนึ่งในสาขาเศรษฐกิจสำคัญในแผนหลักของประเทศ และสอดรับกับวาระแห่งชาติ BCG ดังนั้น บพท. และมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการจึงเห็นโอกาสและความเป็นไปได้ เพราะเป็นการพัฒนาบนทุนเดิมของชุมชน โดยจะทำเป็นตัวอย่าง ซึ่งเมื่อนำความรู้ไปช่วยสำเร็จแล้ว ก็สามารถยกระดับเศรษฐกิจ ตลอดห่วงโซ่การผลิต ซึ่งคนจนจะอยู่ในห่วงโซ่ได้ทั้งระดับต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ขึ้นกับศักยภาพของกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน โดยมีกลไกภาคีสนับสนุน”
สำหรับสถาบันอุดมศึกษา 16 แห่ง ที่ประสานความร่วมมือกับ บพท. เพื่อบรรลุเป้าหมายในการปลดแอก 40,000 คน ให้พ้นจากความยากจน ได้แก่ วิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร วิทยาลัยชุมชนชัยนาท วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน วิทยาลัยชุมชนยโสธร มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ …//