คกอช. เตรียมเสนอ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566 – 2570) มุ่งไทยมั่นคงทางอาหารและโภชนาการเพื่อชาวไทยและชาวโลกอย่างยั่งยืน
คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ (คกอช.) เห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566 – 2570) พร้อมเป้าหมายและตัวชี้วัดซึ่งเชื่อมโยงทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับอาหารจากภาคการเกษตร การแปรรูป การบริการ สู่โภชนาการและสุขภาพของคนไทย ตลอดจนวัฒนธรรมการท่องเที่ยวและการค้า โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักคิดพื้นฐาน หวังให้ประเทศไทยมีความมั่นคงทางด้านอาหารและโภชนาการ เป็นแหล่งอาหารที่มีคุณภาพสูง ปลอดภัย มีคุณค่าทางโภชนาการเพื่อชาวไทยและชาวโลก เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบเร็ว ๆ นี้
วันที่ 26 มกราคม 2565 ที่ประชุมคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 ศาสตราจารย์พิเศษ เรวัต ฉ่ำเฉลิม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการอาหารแห่งชาติแทน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้จัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566 – 2570) มุ่งสู่วิสัยทัศน์ที่ว่า “ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ เป็นแหล่งอาหารที่มีคุณภาพสูง ปลอดภัย และ มีคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อชาวไทยและชาวโลกอย่างยั่งยืน” ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์หลัก 4 ด้าน ได้แก่
1) ด้านความมั่นคงอาหาร
2) ด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร
3) ด้านอาหารศึกษา
4) ด้านการบริหารจัดการ พร้อมกับกำหนดเป้าหมายของ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ไว้ 6 ด้าน ได้แก่
1) จำนวนคนขาดแคลนอาหารลดลง
2) ปริมาณการสูญเสียและขยะอาหารลดลง
3) ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อคุณภาพและความปลอดภัยอาหารเพิ่มขึ้น
4) มูลค่าการค้าอาหารเพิ่มขึ้น
5) จำนวนคนที่มีภาวะโภชนาการ (ขาดและเกิน) ลดลง
6) มีกลไกประสานงานกลางและบูรณาการดำเนินการ
ทั้งนี้ ได้มีการจัดทำตัวชี้วัดและค่าเป้าหมาย ระยะ 5 ปี รองรับ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าว โดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน สถาบันการศึกษา และผู้ทรงคุณวุฒิ
ทั้งนี้ แผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566 – 2570) ฉบับนี้ มีความมุ่งหมายเพื่อให้เป็นกรอบสำหรับหน่วยงานต่าง ๆ นำไปเป็นแนวทางในการวางแผนการปฏิบัติงานด้านอาหารในส่วนที่รับผิดชอบตามอำนาจหน้าที่ และให้ความสำคัญกับการบูรณาการ การดำเนินงานแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ มุ่งสู่ “ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”
ศาสตราจารย์พิเศษ เรวัต ฉ่ำเฉลิม กล่าวในตอนท้ายว่า แผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566 – 2570) จะมีการเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป ทั้งนี้ การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการฯ ฉบับนี้ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายในระยะ 5 ปี จำเป็นที่ทุกหน่วยงานและทุกภาคส่วนต้องดำเนินงานร่วมกันแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ และมีการบูรณาการ รวมทั้งการติดตามและประเมินผล อันจะนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายในระยะ 5 ปี
วันที่เผยแพร่ข่าว 26 มกราคม 2565 ข่าวแจก 63 / ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
ข้อมูล https://bit.ly/3AxGku9