แล้งนี้.. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งเดินหน้าใช้กลไกการบริหารจัดการน้ำ ให้ทุกหน่วยงานเร่งถ่ายทอดความรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำ การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัด เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรให้อยู่รอดได้ในช่วงหน้าแล้ง ซึ่งสามารถทำเองได้แบบไม่ยุ่งยาก
นางสาวเบญจพร ชาครานนท์ เปิดเผยว่า ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายกฤษฎา บุญราช ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญเรื่องการบริหารจัดการน้ำในภาคการเกษตร ซึ่งน้ำเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ใช้ในการเพาะปลูก เพราะว่าฤดูแล้งปีนี้มาเร็วกว่าปกติและมีแนวโน้มว่าจะมีระยะเวลาที่ยาวนาน อาจจะทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับการเกษตร และส่งผลกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกร จึงมีข้อสั่งการ
ให้ทุกหน่วยงานในสังกัดเร่งกันรณรงค์ให้ความรู้และแนะนำเกษตรกรถึงมาตรการบริหารจัดการน้ำ การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัด มีการปรับปรุงคุณภาพดินให้ดีขึ้นด้วยการเติมอินทรียวัตถุต่างๆ ลงในดิน นอกจากนี้ควรใช้วัสดุชนิดต่างๆ ในการคลุมดินเพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้นด้วย เช่น การใช้พลาสติกคลุมดิน ฟางข้าว หญ้าแห้ง ใบหญ้าแฝก เป็นต้น โดยให้คลุมบริเวณทรงพุ่มจะช่วยรักษาความชื้นได้ยาวนานยิ่งขึ้น ในพื้นที่ค่อนข้างแห้งแล้งฝนตกน้อยเกษตรกรที่ปลูกพืชควรมีการขุดบ่อน้ำประจำไร่นา สำหรับเก็บกักน้ำไว้ใช้เองเพื่อใช้ดูแลรักษาให้ต้นพืชเจริญเติบโตสามารถผ่านพ้นช่วงที่แห้งแล้งไปได้ โดยควรมีการให้น้ำเท่าที่พืชต้องการและเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของพืช ทั้งนี้การให้น้ำแบบประหยัดยังทำให้สามารถเพิ่มพื้นที่ให้น้ำได้มากขึ้นด้วย นอกจากนั้นกรมพัฒนาที่ดินยังส่งเสริมให้น้อมนำแนวพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การทำเกษตรทฤษฎีใหม่หรือการทำเกษตรผสมผสาน นำมาปรับใช้ในพื้นที่การเกษตร โดยเกษตรกรต้องมีความสมัครใจ และมั่งมั่น ก็จะสามารถประสบความสำเร็จได้ เช่น “นายมานพ นกอิ่ม” บ้านเลขที่ ๒๖๖/๑๗ หมู่ที่ ๑๐ บ้านคลองยายสร้อย ต.ทุ่งพระยา อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ที่ได้น้อมนำและดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ ๙ โดยทำการเกษตรผสมผสาน ใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำในไร่นาที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ ทำการปลูกพืชผักชนิดต่างๆ ตามความต้องการของตลาด สำหรับขายสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวมากกว่าสองบาทต่อเดือน
ซึ่งนายมานพ นกอิ่ม ได้เล่าให้ฟังว่า มีพื้นที่ทำการเกษตรอยู่ในพื้นที่นอกเขตชลประทาน จำนวน ๕๐ ไร่ สภาพพื้นที่เป็นลักษณะดินร่วนเหนียวปนกรวด สามารถเก็บกักน้ำได้ดี ทีแรกตั้งใจว่าจะทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริแต่เนื่องจากพื้นที่ไม่เหมาะสมที่จะทำนาปลูกข้าว จึงได้เปลี่ยนใจมาทำการเกษตรแบบผสมผสาน แบ่งพื้นที่เป็นส่วนๆ ทำการปลูกต้นยางพารา จำนวน ๓๐ ไร่ ปลูกมันสำปะหลัง จำนวน ๑๔ ไร่ ปลูกไม้ผล เช่น ลำไย ขนุน มะม่วง มะปราง และพืชผักชนิดต่างๆ จำนวน ๖ ไร่ เมื่อปี ๒๕๕๗ กรมพัฒนาที่ดินได้มาขุดสระน้ำขนาด ๑,๒๖๐ ลูกบาศก์เมตร โดยมีส่วนร่วมเสียค่าใช้จ่ายสมทบในการขุดสระน้ำ เป็นเงิน ๒,๕๐๐ บาท ซึ่งในสระน้ำก็เลี้ยงปลานิลเพื่อเป็นอาหารบริโภคในครอบครัว และได้ปลูกหญ้าแฝกรอบสระน้ำจำนวน ๔ แถว เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน และช่วยกรองเศษตะกอนดินไม่ให้ตกลงในสระน้ำ
นายมานพ เล่าอีกว่า เจ้าหน้าที่สถานีพัฒนาที่ดินฉะเชิงเทรา ได้เข้ามาให้คำปรึกษาให้กำลังใจตลอดจนคำแนะนำต่างๆ ที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง วิธีการดูแลรักษาสระน้ำเพื่อให้สามารถเก็บกักน้ำได้ดี การดูแลรักษาต้นหญ้าแฝกที่ปลูกรอบสระน้ำ รวมทั้งการให้องค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพ สารเร่งซุปเปอร์ พด. ชนิดต่าง ๆ เช่น การใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด. ๑ ทำปุ๋ยหมัก เพื่อปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ ช่วยลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต การใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด. ๒ ทำน้ำหมักชีวภาพ เพื่อบำรุงต้นพืชให้เจริญเติบโต การใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด. ๓ ช่วยป้องกันโรครากเน่า โคนเน่าในพืชผัก สารเร่งซุปเปอร์พด. ๗ สำหรับทำสารขับไล่แมลงศัตรูพืช ซึ่งวิธีการและขั้นตอนการทำต่างๆ นั้นก็ไม่ยุ่งยาก โดยทำตามสูตรสำเร็จที่กรมพัฒนาที่ดินแนะนำมาซึ่งก็ใช้ได้ผลดีสำหรับการปลูกพืชผักชนิดต่างๆ ที่สำคัญช่วงหน้าแล้งต้องรู้จักปรับตัวไม่ปลูกพืชเศรษฐกิจที่ใช้น้ำมาก แต่ควรรู้จักการปลูกพืชผักอายุสั้นที่ใช้น้ำน้อยสำหรับขายเพื่อสร้างรายได้ และต้องรู้วิธีการคลุมพื้นดินด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้นในดินให้กับต้นพืชที่ปลูก ทำให้ได้ผลผลิตเก็บเกี่ยวไปขายเพื่อสร้างรายได้ ทำให้ครอบครัวไม่ต้องเดือดร้อน ตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ เป็นต้นมาในช่วงหน้าแล้งทุกปีสำหรับผมแล้ว ได้ใช้ประโยชน์จากสระน้ำที่ขุดไว้และใช้น้ำอย่างประหยัดมีประสิทธิภาพ เพื่อให้มีน้ำเพียงพอในการทำเกษตรผสมผสานตลอดฤดูแล้ง และได้ทำการคลุมดินด้วยเศษใบไม้ เศษหญ้า ใบหญ้าแฝก เปลือกถั่วลิสง เปลือกมันสำปะหลัง เพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้นในดิน ทำการเกษตรผสมผสานโดยปลูกพืชผักชนิดต่างๆ ที่มี
ความหลากหลายชนิด ได้แก่ ปลูกพริก มะนาว บวบหอม มะเขือ บวบงู แตงกวา ถั่วฝักยาว ฟักทอง น้ำเต้า และจะปลูกพืชผักชนิดอื่นๆ หมุนเวียนกันไปตามความต้องการตลาด โดยมีพ่อค้าแม่ค้าขาประจำที่จะนำรถยนต์มารับซื้อถึงแปลงปลูกผัก อีกส่วนหนึ่งเก็บไปขายเองยังตลาดสดในชุมชน สามารถสร้างรายได้ให้ครอบครัวถึงเดือนละ ๒๕,๐๐๐ บาท ทำให้ครอบครัวไม่ลำบากไม่ต้องมีหนี้สินต่างๆ ดังนั้นจึงขอแนะนำและให้กำลังใจแก่พี่น้องเกษตรกรให้พลิกวิกฤติเป็นโอกาส โดยน้อมนำแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ ๙ เรื่องการทำเกษตรทฤษฎีใหม่หรือการทำเกษตรผสมผสาน นำมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต แต่ขอให้มีความขยัน ต้องรู้จักอดทน และตั้งใจที่จะทำจริงๆ ก็จะประสบผลสำเร็จได้ หากท่านใดต้องการเข้ามาศึกษาดูงานในแปลงปลูกผักสามารถติดต่อได้ที่ นายมานพ นกอิ่ม ที่อยู่ ๒๖๖/๑๗ หมู่ที่ ๑๐ ต.ทุ่งพระยา อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา โทรศัพท์ ๐๘๙ – ๕๔๕ – ๕๑๐๙ หรือสามารถติดต่อผ่านสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทรา โทร. ๐๓๘-๕๓๑-๒๐๐
*********************************************
…………………………………………………………………