นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในงานวันคล้ายวันสถาปนากรมตรวจบัญชีและสหกรณ์ ครบรอบ 67 ปี พร้อมกันนี้ได้ให้เกียรติมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่ ข้าราชการดีเด่น 12 ราย ลูกจ้างประจำดีเด่น 9 ราย และพนักงานราชการดีเด่น 11 ราย จำนวนทั้งสิ้น 32 ราย และกล่าวแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับโล่ โดยในช่วงเช้าได้จัดให้มีพิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พิธีสงฆ์ และการมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ โดยนายโอภาส ทองยงค์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ณ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เทเวศร์
นายอนันต์ กล่าวว่า กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบการบริหารจัดการด้านการเงินและการบัญชีของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร เกษตรกร และประชาชน ให้เกิดความโปร่งใส เข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ สามารถนำระบบบัญชีไปใช้ในการบริหารจัดการสู่ความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ในวันที่ ๑๒ มีนาคม ของทุกปี นับเป็นวันครบรอบวันสถาปนากรมตรวจบัญชีสหกรณ์ โดยปี ๒๕๖๒ นี้ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้ขับเคลื่อนงานตามภารกิจ ครบรอบปีที่ ๖๗ โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้มุ่งมั่นพัฒนาสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรให้มีระบบบริหารจัดการด้านการเงินการบัญชีที่โปร่งใสและเข็มแข็งอย่างต่อเนื่อง
นายโอภาส ทองยงค์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวว่า ในปัจจุบันกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ มีหน้าที่สำคัญตามภารกิจและนโยบายรัฐบาลตามบทบาทและพันธกิจ ๓ ด้าน แบ่งเป็น ด้านที่หนึ่ง คือ การตรวจสอบบัญชีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ทั้งในรูปแบบการเป็นผู้สอบบัญชีเอง และการควบคุมกำกับการสอบบัญชีของภาคเอกชน เพื่อให้สมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรทั้งหมดประมาณ 12,500,000 คน รวมทั้งผู้ที่จะใช้ข้อมูลด้านการเงิน การบัญชี ของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร มีข้อมูลที่เชื่อถือได้และเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีและมาตรฐานการสอบบัญชี ซึ่งในเรื่องนี้กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้เร่งพัฒนาสมรรถนะของผู้สอบบัญชีให้เป็น CYBER AUDITOR เพื่อรองรับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและการประกอบกิจการของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่นับวันจะมีการพัฒนาแข่งกับธุรกิจเอกชนอย่างไม่หยุดยั้ง ทั้งนี้ ในปัจจุบันสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรมีทุนดำเนินงานประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท มากเป็นอันดับ ๓ ของประเทศ
ด้านที่สอง คือ การทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ตามแผนบูรณาการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อที่จะให้ความรู้ในเรื่องการจัดทำบัญชีครัวเรือน และบัญชีต้นทุนในการประกอบอาชีพ เพื่อให้เกษตรกรมีความเข้าใจเรื่องการลงทุนและการตลาดที่เหมาะสม โดยเล็งเห็นว่า ถ้ารู้จักเพียงแต่ทำมาหากินแต่ไม่รู้จักทำบัญชี ยากที่จะประสบความสำเร็จ อันจะเป็นการสนับสนุนให้การประกอบอาชีพของเกษตรกร ภายใต้การแนะนำส่งเสริมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน
ด้านที่สาม คือ การสอนแนะการทำบัญชีครัวเรือน บัญชีต้นทุนอาชีพ แก่ประชาชนทั่วไป รวมทั้งเด็กนักเรียน ทั้งที่อยู่ภายใต้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ และผู้สนใจทั่วไป เพื่อปลูกฝังให้เกิดปัญญาในการ วางแผนการใช้จ่ายเพื่อการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตประจำวัน เป็นการกระตุ้นให้เกิดการออม ซึ่งจะทำให้เกิดความมั่นคงต่อเสถียรภาพทางการเงินของประเทศอีกทางหนึ่ง
**********************************