กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปโลก ปี 2561 ขยายตัวกว่าร้อยละ 7 พร้อมเชิญชวนเกษตรกรไทย ยกระดับคุณภาพสินค้า เพิ่มความหลากหลายของสินค้าด้วยการแปรรูป สร้างแต้มต่อในการแข่งขัน ขยายการส่งออกสินค้าเกษตรไทยสู่ตลาดโลกด้วย FTA
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร (พิกัดศุลกากร 01-24 ไม่รวมพิกัด 03 และ 16 ซึ่งเกี่ยวกับสินค้าประมง) ในปี 2561 ว่ามีมูลค่ากว่า 26.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้ากว่าร้อยละ 7.7 และคิดเป็นร้อยละ 10.6 ของการส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทย อีกทั้งไทยยังเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรเป็นอันดับที่ 18 ของโลก โดยมีคู่ค้าสำคัญได้แก่ อาเซียน จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ซึ่งสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ ข้าว น้ำตาล ผลไม้ อาหารปรุงแต่ง ของปรุงแต่งจากผักผลไม้ เครื่องดื่ม อาหารสัตว์ เป็นต้น
นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพสินค้าเกษตรไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในตลาดโลก โดยใช้ประโยชน์จาก FTA ทั้ง 13 ฉบับ ที่ไทยทำกับ 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ และฮ่องกง ในช่วงที่ผ่านมากรมเจรจาฯ ได้จับมือกับสภาเกษตรแห่งชาติลงพื้นที่สร้างความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกรในจังหวัดต่างๆ เรื่องประโยชน์เอฟทีเอและการพัฒนาสินค้าเกษตรไทยเพื่อให้แข่งขันได้อย่างมีศักยภาพ ตลอดจนให้เกษตรกรนำสินค้ามาให้ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ แนะนำแนวทางการปรับตัว โดยในปีงบประมาณ 2562 กรมฯ ได้ลงพื้นที่ไปแล้ว 4 จังหวัด คือ อุดรธานี สินค้าสมุนไพร ขิง ข่า กระชาย ไม้ดอกไม้ประดับ ปราจีนบุรี สินค้าสมุนไพร ไม้ดอกไม้ประดับ แม่ฮ่องสอน สินค้าชา กาแฟ สมุนไพร ธัญพืช สุโขทัย สินค้ากาแฟ ส้ม ชาดอกกาแฟ ละมุด และใบตองตานี และเตรียมจะลงพื้นที่อีก 2 จังหวัด ได้แก่ ศรีสะเกษ สินค้าทุเรียน เงาะ และสมุนไพร และ สงขลา สินค้ามังคุด เงาะ ลองกอง และผลไม้อบแห้ง เป็นต้น ในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ ทั้งนี้ สินค้าผลไม้เมืองร้อนที่กล่าวมาข้างต้นเป็นกลุ่มที่จะได้ประโยชน์จาก FTA โดยเฉพาะการส่งออกไปประเทศคู่ FTA เช่น อาเซียน จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เป็นต้น เพราะประเทศคู่ค้าได้ลดเลิกภาษีศุลกากรให้ไทยแล้ว สำหรับสินค้าที่ไทยอาจจะต้องเตรียมความพร้อมรับการแข่งขันกับสินค้าจากต่างประเทศ เช่น สินค้านมและผลิตภัณฑ์นม ซึ่งกรมฯ ก็ได้ร่วมมือกับกรมปศุสัตว์และชุมนุมสหกรณ์โคนม ให้ความรู้และแนะนำให้เกษตรกรให้ความสำคัญกับการสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าโดยการพัฒนาคุณภาพสินค้าตลอดห่วงโซ่การผลิต ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและขยายการส่งออกสู่ตลาดโลกด้วย FTA
“จากการลงพื้นที่ไปในหลายจังหวัดพบว่า ผู้ผลิตหลายรายมีศักยภาพ สามารถใช้ประโยชน์จากความตกลง FTA สร้างรายได้และขยายการส่งออกไปต่างประเทศได้แล้ว โดยได้มีการพัฒนาสินค้าตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การรักษาคุณภาพ ยกระดับมาตรฐานสินค้า และมีการเสริมนวัตกรรมความคิดสร้างสรรค์ให้กับสินค้าเกษตรนั้นๆ ซึ่งสอดคล้องกับเกษตรกรไทยยุค 4.0 ที่ต้องการเปลี่ยนจากการทำเกษตรที่เน้นปริมาณ ไปสู่การทำการเกษตรที่เน้นคุณภาพ นวัตกรรม และเทคโนโลยี นอกจากนี้ สินค้าทางเลือกใหม่สำหรับผู้บริโภคที่รักษ์สุขภาพและสิ่งแวดล้อม อย่างสินค้าเกษตรอินทรีย์ ก็พบว่า ผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์สามารถจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ของตนได้ในราคาสูงกว่าสินค้าเกษตรทั่วไปถึง 10 เท่า อีกทั้งยังเป็นที่ต้องการเพิ่มมากขึ้นทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลให้เกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์เริ่มมีการรวมกลุ่มผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์กันมากขึ้น” นางอรมน กล่าว
——————————
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์