สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (ร.พ.เด็ก) กรมการแพทย์ เผยโรคหน้าร้อนที่มักเกิดในเด็ก เช่น โรคท้องร่วง อาหารเป็นพิษ บิด และโรคภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก แนะพ่อแม่ผู้ปกครองควรใส่ใจ สุขอนามัยให้แก่เด็ก โดยปรุงอาหารที่สุกใหม่ รักษาความสะอาดร่างกาย และยึดหลัก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ”
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ในช่วงต้นเดือนมีนาคม – พฤษภาคม ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ช่วงฤดูร้อน จากสภาพอากาศที่ร้อนจัด อุณหภูมิอาจสูงถึง 40 องศาเซลเซียส เชื้อโรคต่างๆสามารถเจริญเติบโตได้ดีและแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ซึ่งเชื้อโรคเหล่านี้จะปะปนมากับอาหารและน้ำดื่ม พ่อแม่ผู้ปกครองระมัดระวังเรื่องสุขอนามัย ความสะอาด โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก ให้มากที่สุด เนื่องจากเด็กเล็กมีภูมิต้านทานร่างกายที่น้อยกว่าผู้ใหญ่ ส่งผลให้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย
นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคหน้าร้อนที่พบบ่อยในเด็ก ในช่วงหน้าร้อนนี้มีมากมาย เช่น โรคท้องร่วง สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส แบคทีเรีย โปรโตรซัว หนอน พยาธิ ติดต่อโดยการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีเชื้อโรคเข้าไป โดยจะพบอาการถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้ง/วัน ถ่ายเป็นน้ำหรือมีมูกเลือดปน และเมื่อเชื้อเข้าสู่กระแสโลหิตทำให้โลหิตเป็นพิษและเสียชีวิตได้ โรคอาหารเป็นพิษ เกิดจากเชื้อต่างๆที่มาจากพิษแบคทีเรีย เชื้อรา หรือสารเคมีที่ปนเปื้อน มักพบได้จากอาหารที่ปรุงสุกๆดิบๆ อาการ มีไข้ ปวดท้อง อาเจียน คลื่นไส้ ถ่ายอุจจาระบ่อยครั้ง โรคภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก เป็นโรคผิวหนังที่พบบ่อยในหน้าร้อน ที่สำคัญของโรค คือ ผิวหนังจะแห้ง มีอาการคันมาก และไวต่อสารภายนอกที่มาสัมผัส ทำให้มีผื่นขึ้นในลักษณะเป็นๆหายๆ การป้องกันทำได้โดย ควรให้ทารกดื่มนมมารดาเพื่อหลีกเลี่ยงการแพ้นมวัว เลือกสวมใส่เสื้อผ้าเนื้อนุ่ม ใช้สบู่อ่อนที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และไม่ควรซื้อยามาทา และที่สำคัญ ผู้ปกครองควรระมัดระวังในเรื่องความสะอาดให้แก่เด็กๆ โดยมีหลักสำคัญคือ รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ รักษาความสะอาดของร่างกาย และดูแลสุขอนามัยเพื่อให้ปลอดภัยจากโรคในหน้าร้อน