วันที่ 24 มกราคม 2565 ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 โดยมี นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย และคณะกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร อาคาร 1 ชั้น 2 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และระบบวีดีทัศน์ทางไกล
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปีงบประมาณ 2565 เป็นปีเริ่มต้นขับเคลื่อนการดำเนินงานในระยะครึ่งแผนหลัง (พ.ศ.2565 – 2570) ตามนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 ในระยะ 4 ปี ที่ผ่านมา คณะกรรมการได้ร่วมกันผลักดันมาตรการสำคัญในหลายด้าน อาทิ การผลักดันสิทธิประโยชน์การตรวจคัดกรองซิฟิลิสและการตรวจยืนยันเมื่อผลคัดกรองเป็นบวก ในคู่ของหญิงตั้งครรภ์ทุกราย แล้วเสร็จมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2565 การผลักดันสิทธิประโยชน์การช่วยเหลือภาวะมีบุตรยาก ผ่านความเห็นชอบจากบอร์ด สปสช. ให้เป็นบริการที่เข้าข่ายการให้สิทธิ ( inclusion) การส่งเสริมการจัดตั้งสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย อายุต่ำว่า 3 ปี ซึ่งมีการขับเคลื่อนต่อโดยลดอายุ ลงเป็นต่ำกว่า 2 ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาหลักสูตรอบรมครูพี่เลี้ยงและการจัดทำแบบการก่อสร้าง และมีโครงการจากความร่วมมือหลายโครงการ แต่ยังพบว่า จำนวนการเกิด อัตราการเจริญพันธุ์รวม อัตราการคลอดในหญิงอายุ 20 – 34 ปี ลดลง และมีแนวโน้มจะลดลงอีก ส่วนคุณภาพการเกิด และการเจริญเติบโตของเด็กไทยยังคงเป็นปัญหา
ซึ่งการแก้ปัญหาดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการได้ด้วยระบบสาธารณสุขเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยการจัดการในทุกด้านแบบองค์รวม โดยมีรัฐบาลเป็นผู้ลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบ เสนอให้รัฐบาลมีการประกาศนโยบายประชากร “รณรงค์ให้ครอบครัวที่มีความพร้อม มีบุตรครอบครัวละไม่น้อยกว่า 2 คน” โดยการมีบุตรนั้นจะต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ มีการวางแผน และมีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ รวมถึงมีการช่วยเหลือคู่ที่ประสบภาวะมีบุตรยากให้เข้าถึงบริการได้เร็วขึ้น โดยมีมาตรการคู่ขนานไปกับข้อเสนอดังกล่าว ดังนี้
1) เสริมสร้างทัศนคติและค่านิยมแก่คนรุ่นใหม่ในการสร้างครอบครัวและมีบุตรในวัยอันควร
2) ผลักดันให้รัฐบาลมีมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัวที่มีเด็ก อายุ 0 – 5 ปี
3) ส่งเสริมการจัดตั้งสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย อายุต่ำกว่า 2 ปี เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระในการเลี้ยงดูเด็กอ่อน ก่อนวัยเรียนในเวลากลางวัน ที่พ่อแม่จะต้องออกไปทำงานประกอบอาชีพ
4) ช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหาภาวะมีบุตรยากให้เข้าถึงการรักษาในอายุที่น้อยลง เพิ่มโอกาสในการมีลูกมากขึ้น
ทางด้าน นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การเกิดที่มีคุณภาพคือการเกิดจากการตั้งครรภ์ที่ตั้งใจ มีความพร้อมและมีการวางแผน กรมอนามัย จึงส่งเสริมให้ประชาชนมีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ และเข้ารับการฝากครรภ์คุณภาพ เพื่อให้ลูกเกิดรอด แม่ปลอดภัย เด็กได้รับการเลี้ยงดูที่ดี มีความสุข มีพัฒนาการสมวัย สูงดี สมส่วน สติปัญญาดีและมีความฉลาดทางอารมณ์ สามารถเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศ โดยมุ่งเน้นการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพให้กับประชาชน และการดำเนินงานหลายโครงการ อาทิ “Savemom” “วิวาห์สร้างชาติ” “สาวไทยแก้มแดง” “มหัศจรรย์ 1,000 วัน” และ “การยกระดับมาตรฐานและคุณภาพสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย (4D)”
นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นให้ประชากร กลุ่มเปราะบางและด้อยโอกาส เข้าถึงบริการวางแผนครอบครัว สร้างระบบบริการที่ครอบคลุมให้คำปรึกษาความรู้ เพื่อส่งเสริมการเกิดอย่างมีคุณภาพ
กรมอนามัย / 24 มกราคม 2565