ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน(11 มี.ค. 62) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 49,249 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 65 ของความจุเก็บกักรวมกัน โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้ 25,321 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 49 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 14,081 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 57 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 7,385 ล้าน ลบ.ม. สำหรับผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 61/62 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางของทั้งประเทศ
ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 61 ถึงปัจจุบัน(11 มี.ค. 62) ใช้น้ำไปแล้ว 15,720 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 68 ของแผนจัดสรรน้ำฯ ในส่วนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ใช้น้ำไปแล้ว 6,601 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 83 ของแผนจัดสรรน้ำฯ ซึ่งมากกว่าแผนฯตามช่วงเวลาดังกล่าวเล็กน้อย เนื่องจากมีการเพาะปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ตอนบนเกินกว่าแผนฯที่ตั้งไว้ ทำให้ต้องเพิ่มการระบายน้ำมากกว่าแผนฯเป็นช่วงๆ เพื่อรักษาระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาและระบบชลประทาน พร้อมควบคุมคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด โดยในวันนี้(11 มี.ค. 62) ระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาอัตรา 70 ลบ.ม.ต่อวินาที
ส่วนค่าความเค็มในแม่น้ำ 4 สาย ยังอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถควบคุมได้ โดยวันนี้(11 มี.ค. 62)ค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่สถานีสูบน้ำประปาสำแล อยู่ห่างจากปากแม่น้ำ 100 กิโลเมตร วัดได้ 0.15 กรัม/ลิตร(ควบคุมค่ามาตรฐานเพื่อการผลิตน้ำประปาไม่เกิน 0.50 กรัม/ลิตร) แม่น้ำแม่กลอง ที่สถานีปากคลองดำเนินสะดวก ห่างจากปากแม่น้ำ 27 กิโลเมตร วัดได้ 0.13 กรัม/ลิตร(ควบคุมตามเกณฑ์เฝ้าระวังเพื่อการเกษตรไม่เกิน 2 กรัม/ลิตร) แม่น้ำปราจีน-บางปะกง ที่สถานีปราจีนบุรี ห่างจากปากแม่น้ำ 181 กิโลเมตร วัดได้ 0.08 กรัม/ลิตร(ควบคุมตามเกณฑ์เพื่อการเกษตรไม่เกิน 2 กรัม/ลิตร) และแม่น้ำท่าจีน ที่สถานีปากคลองจินดา ห่างจากปากแม่น้ำ 53.6 กิโลเมตร วัดได้ 0.22 กรัม/ลิตร(ควบคุมตามเกณฑ์เฝ้าระวังสำหรับกล้วยไม้ 0.75 กรัม/ลิตร และเพื่อการเกษตรไม่เกิน 2 กรัม/ลิตร)
ด้านผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 61/62 ทั้งประเทศ ณ วันที่ 6 มี.ค. 62 มีการเพาะปลูกไปแล้ว 8.80 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 84 ของแผนฯ(แผน 10.46 ล้านไร่) เฉพาะข้าวนาปรัง มีการเพาะปลูกไปแล้ว 8.26 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 103 ของแผนฯ(แผน 8.03 ล้านไร่) เก็บเกี่ยวไปแล้ว 0.23 ล้านไร่ ในส่วนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการเพาะปลูกไปแล้ว 5.93 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 98 ของแผนฯ (แผน 6.07 ล้านไร่) เฉพาะข้าวนาปรัง มีการเพาะปลูกไปแล้ว 5.85 ล้านไร่ คิดเป็น ร้อยละ 110 ของแผนฯ (แผน 5.30 ล้านไร่) เก็บเกี่ยวไปแล้ว 0.67 ล้านไร่ จะเห็นได้ว่ามีการเพาะปลูกข้าวนาปรังเกินแผนฯ
“กรมชลประทาน ขอยืนยันปริมาณน้ำต้นทุนในเขตชลประทาน มีเพียงพอต่อการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ ตามแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้งที่ได้กำหนดไว้ในแต่ละพื้นที่ รวมไปถึงกรณีที่เกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ก็ยังมีปริมาณน้ำสำรองเพียงพอเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องขอความร่วมมือจากเกษตรกร งดปลูกข้าวต่อเนื่องหลังการเก็บเกี่ยวนาปรัง(นารอบที่ 2)เสร็จแล้ว โดยหันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน พร้อมขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วน ให้ร่วมใจกันรณรงค์ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรน้ำและใช้น้ำอย่างประหยัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้นี้” รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวในที่สุด
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ
กรมชลประทาน