กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะวิธีเลือกซื้อสัตว์ปีกมาบริโภคให้ปลอดภัยในช่วงเทศกาลตรุษจีน โดยยึดหลัก “เลือก หลีก ล้าง” สร้างความมั่นใจ ให้ปลอดภัยจากโรคไข้หวัดนก พร้อมเน้นย้ำประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 ขั้นสูงสุดอย่างเคร่งครัด
วันที่ 24 มกราคม 2565 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงเทศกาลตรุษจีนของทุกปี จะมีความต้องการใช้สัตว์ปีกจำนวนมากกว่าปกติ ซึ่งชาวไทยเชื้อสายจีนจะนำเป็ด ไก่ จำนวนมากมาประกอบในพิธีไหว้บรรพบุรุษหรือไหว้เจ้า ดังนั้น หากสัตว์ปีกที่นำมาไหว้มีเชื้อไข้หวัดนก ประชาชนอาจเสี่ยงติดเชื้อจากการบริโภคหรือสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยเป็นโรคไข้หวัดนกได้
“อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีความเสี่ยงที่จะพบเชื้อโรคไข้หวัดนกในพื้นที่ชายแดนได้ จากการขนย้ายและส่งออกสัตว์ปีกข้ามพรมแดนประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงมีโอกาสพบการติดเชื้อในคนที่ประกอบอาชีพเกี่ยวข้องสัตว์ปีก อาทิ เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีก ผู้ค้าสัตว์ปีก ผู้ชำแหละสัตว์ปีก ซึ่งกรมควบคุมโรคได้ดำเนินงานตามมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคมาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันยังไม่พบรายงานการติดเชื้อโรคไข้หวัดนกทั้งในคนและในสัตว์” นายแพทย์โอภาส กล่าว
นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อไปว่า สำหรับการเลือกบริโภคสัตว์ปีก ขอให้ประชาชนยึดหลัก “เลือก หลีก ล้าง” คือ
1.เลือกบริโภคเนื้อไก่หรือเป็ด และไข่ที่ปรุงสุก สะอาด
2.หลีกเลี่ยงนำสัตว์ปีกที่ป่วย มีอาการหงอย ซึม ขนยุ่ง หรือป่วยตายมาประกอบเป็นอาหาร
3.หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ปีกที่มีอาการป่วยหรือตาย
4.หากไปตลาดค้าสัตว์ปีก ผู้บริโภคควรเลือกซื้อสัตว์ปีกจากร้านที่สะอาด ปลอดภัย และมีทะเบียนการค้าสัตว์ปีกที่ออกโดยกรมปศุสัตว์
5.ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ โดยเฉพาะหลังจากสัมผัสสัตว์และสารคัดหลั่งของสัตว์
นอกจากนี้ ในช่วงเทศกาลตรุษจีน ยังเป็นการรวมตัวกันของญาติพี่น้อง เพื่อไหว้บรรพบุรุษและรับประทานอาหารร่วมกัน หรือเดินทางไปไหว้ศาลเจ้า ซึ่งอาจมีผู้คนแออัด และเสี่ยงติดเชื้อโควิด 19 ได้ ดังนั้น ขอความร่วมมือประชาชนเคร่งครัดมาตรการป้องกันตนเองขั้นสูงสุด (Universal Prevention : UP) ในช่วงเทศกาลตรุษจีน โดยการเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ หากรับประทานอาหารร่วมกัน ให้ใช้ช้อนกลางส่วนตัว หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
********************************
ข้อมูลจาก: กองโรคติดต่อทั่วไป/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 24 มกราคม 2565