กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกรุงเทพมหานคร สังกัดสำนักอนามัย สำนักการแพทย์ สำนักพัฒนาสังคม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และเครือข่ายภาคประชาชน ร่วมขับเคลื่อนนโยบายมหัศจรรย์ 2,500 วันแรกของชีวิต เพื่อเป็นการต่อยอดโครงการมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกของชีวิต โดยยกระดับคุณภาพชีวิตแม่และเด็กในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
วันที่ (11 มีนาคม 2562) นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิด การประชุมส่งเสริมความร่วมมือขับเคลื่อนนโยบายมหัศจรรย์ 2,500 วันแรกของชีวิตและสื่อสารคืนข้อมูลรายงานการศึกษาสถานการณ์สถานรับเลี้ยงเด็กไม่มีต้นสังกัดและรับฟังข้อเสนอแนะเชิงนโยบายพื้นที่กรุงเทพมหานคร ณ โรงแรมเอบีน่าเฮาส์ กรุงเทพมหานคร ว่า ขณะนี้มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่มีสังกัด หรือจดทะเบียนเป็นทางการกับหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งสิ้น 693 แห่ง ได้แก่ สถานรับเลี้ยงเด็กกลางวัน สำนักอนามัย จำนวน 11 แห่ง สำนักการแพทย์ จำนวน 8 แห่ง สถานรับเลี้ยงเด็กกลางวัน สำนักพัฒนาสังคม จำนวน 296 แห่งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเอกชนสังกัดกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จำนวน 375 แห่ง และสังกัดกองสวัสดิการแรงงาน กระทรวงแรงงาน 11 แห่ง กรมอนามัยจึงได้ส่งเสริมความร่วมมือของ ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย สำนักการแพทย์ สำนักพัฒนาสังคม และ สำนักการศึกษาของกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ศูนย์เด็กเล็ก กองกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สมาคมโรงเรียนอนุบาลเอกชนและเครือข่าย ภาคประชาชน ให้ร่วมขับเคลื่อนนโยบาย 2,500 วันแรกของชีวิตในพื้นที่กรุงเทพมหานคร แบ่งออกเป็น 2 ช่วงวัย คือ 1,000 วัน ช่วงอายุ 0-2 ปี ขับเคลื่อนโดยใช้เกณฑ์ของกรมอนามัยและ 1,500 วัน ช่วงอายุ 3-5 ปี ขับเคลื่อนโดย ใช้เกณฑ์มาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ พ.ศ. 2561
นายแพทย์ดนัย กล่าวต่อไปว่า เกณฑ์ 1,000 วันแรกของกรมอนามัย เริ่มตั้งแต่ในครรภ์แม่จนถึงอายุ 2 ปี ซึ่งการเริ่มต้นด้วยโภชนาการที่เหมาะสมตั้งแต่ในครรภ์จะช่วยสร้างพื้นฐานการมีสุขภาพที่ดี ส่งเสริมพัฒนาการ การเจริญเติบโตและสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวานหรือโรคภูมิแพ้ หากมีการวางรากฐานที่ดีแล้วจะช่วยในการเตรียมสมองและพัฒนาทักษะของเด็กอย่างต่อเนื่องจนถึงอายุ 6 ปี โดยเฉพาะนับตั้งแต่ปฏิสนธิจนถึง 2 ขวบปีแรก นับเป็นช่วงวัยของเด็กที่สมองมีการพัฒนาสูงสุดทั้งการสร้างเซลล์และการเชื่อมโยงระหว่างเซลล์สมองเกิดเป็นโครงข่ายใยประสาทนับล้านโครงข่ายทำให้การสื่อสารระหว่างเซลล์ มีประสิทธิภาพ ส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก ทำให้การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ ส่วนเกณฑ์ 1,500 วัน ในช่วงอายุ 3-5 ปี ใช้เกณฑ์มาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ พ.ศ. 2561 โดยประกอบด้วยมาตรฐานหลัก 3 ด้าน ได้แก่ ด้านที่ 1 การบริหารจัดการสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ด้านที่ 2 ครู/ผู้ดูแลเด็ก และให้การดูแลจัดประสบการณ์การเรียนรู้และการเล่นเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย และด้านที่ 3 คุณภาพของเด็กปฐมวัย วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพการบริการ ดูแลพัฒนา และจัดการศึกษาและการดำเนินงานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ทุกสังกัด ที่ดูแลเด็กในเวลากลางวัน ช่วงอายุตั้งแต่แรกเกิด ถึงอายุ 6 ปีบริบูรณ์ หรือก่อนเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่สามารถนำไปใช้ประเมินการดำเนินงานของสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยในทุกสังกัดเพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดบริการและความต่อเนื่องของการพัฒนาเด็กปฐมวัย
“ทั้งนี้ ทุกภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องที่ได้ร่วมกันขับเคลื่อน 2,500 วันแรกของชีวิต จึงเป็นการบูรณาการเชื่อมโยงตลอดช่วงชีวิตทั้งมิติบุคคล ครอบครัวและชุมชน รวมถึงการดูแลเด็กและครอบครัวแบบองค์รวม พร้อมทั้งเป็นหน่วยงานประสานการส่งต่อเด็กที่มีความเสี่ยงหรือป่วยได้รับการดูแลรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแม่และเด็กในพื้นที่กรุงเทพมหานครให้เติบโตเต็มศักยภาพและมีพัฒนาการสมวัยจนถึงอายุ 6 ปี” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
*******************************************