โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เตือนภาวะช็อกจากอากาศหนาว “ไฮโปเทอร์เมียร์” หลังเริ่มพบผู้เสียชีวิตในพื้นที่อากาศหนาวเย็นลง แนะ 6 วิธีปฏิบัติต้านหนาว เน้นสร้างความอบอุ่นร่างกาย ห้ามดื่มสุราคลายหนาว เพราะยิ่งดื่มยิ่งสูญเสียความร้อนในร่างกาย จนอุณหภูมิร่างกายต่ำและเสียชีวิตได้
วันที่ 22 มกราคม 2565 นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีพบผู้เสียชีวิตจากอากาศหนาวเย็นฉับพลันว่า ช่วงนี้เริ่มมีอากาศกลับมาหนาวเย็นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพบว่ามีประชาชนบางส่วนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพราะเชื่อว่าจะทำให้ร่างกายอบอุ่น คลายหนาวและลดความปวดเมื่อย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เนื่องจากฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะทำให้ผู้ดื่มมีความรู้สึกอบอุ่นขึ้นเพียงชั่วครู่จากการที่หลอดเลือดฝอยขยายตัว และจะเป็นช่องทางระบายความร้อนออกจากร่างกาย ยิ่งดื่มแอลกอฮอล์มาก ความร้อนก็จะถูกระบายออกจากร่างกายมากขึ้น ทำให้เกิดภาวะอุณหภูมิในร่างกายต่ำลงกว่าปกติ หรือ “ไฮโปเทอร์เมีย (hypothermia)” ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายต่ออวัยวะในร่างกาย นอกจากนี้ การดื่มแอลกอฮอล์ยังเป็นสาเหตุของการการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนทำให้สูญเสียชีวิตและทรัพย์สินด้วย
“หากดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากจะกดประสาทส่วนกลางทำให้เกิดอาการง่วง ซึม หลับไปท่ามกลางอากาศหนาวเย็น และหากมีเครื่องนุ่งห่มให้ความอบอุ่นไม่เพียงพอ จะเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้สูง เนื่องจากเมื่อร่างกายสัมผัสอากาศเย็นเป็นเวลานาน เลือดจะหนืดขึ้น ส่งผลต่อการไหลเวียนไปยังอวัยวะต่างๆ ทำให้ขาดออกซิเจน หัวใจจะทำงานหนักเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย อาจทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้”
นพ.รุ่งเรืองกล่าว
นพ.รุ่งเรืองกล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขขอแนะนำ 6 วิธีปฏิบัติตนในภาวะอากาศหนาว ดังนี้
1.ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงด้วยการรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำอุ่มช่วยปรับสมดุลร่างกาย ออกกำลังกายสม่ำเสมอกระตุ้นให้ร่างกายได้รับความอบอุ่นภายใน ไม่ควรอาบน้ำอุ่นบ่อยเกินไป อาจทำให้ผิวแห้งเสีย และทาผลิตภัณฑ์รักษาความชุ่มชื่นของผิว
2.เตรียมเครื่องนุ่งห่มกันหนาวให้พร้อมและทำความสะอาดเสื้อผ้าหรือผ้าห่ม โดยเฉพาะเสื้อผ้ามือสองให้แช่ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหรือต้ม เพื่อป้องกันโรคผิวหนัง
3.งดดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดในช่วงภาวะอากาศหนาว เนื่องจากเป็นปัจจัยเสริมสำคัญทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตในช่วงอากาศหนาวได้
4.ระมัดระวังและสังเกตอาการผู้ป่วยที่กินยาบางชนิด เช่น ยากล่อมประสาท ยารักษาอาการชัก ที่มีผลทำให้อุณหภูมิร่างกายลดต่ำลง
5.ในช่วงอากาศหนาวอาจทำให้เกิดโรคติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะโรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ และโรคทางเดินหายใจ ซึ่งขณะนี้มีการระบาดของโรคโควิด 19 จึงเน้นย้ำป้องกันตนเองสูงสุดตลอดเวลา ใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง กินร้อน ช้อนกลางส่วนตัว
6.หมั่นดูแลรักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ และอาศัยอยู่ในที่อบอุ่นสามารถป้องกันลมหนาวอย่างเหมาะสม
************************************** 22 มกราคม 2565