วันที่ (11 มีนาคม 2562) พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน นางเพชรรัตน์ สินอวย อธิบดีกรมการจัดหางาน และผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เปิดงานโครงการเตรียมความพร้อมแก่กำลังแรงงานแนะแนวอาชีพผู้ที่ไม่อยู่ในระบบการจ้างงาน กิจกรรมส่งเสริมการรับงานไปทำที่บ้าน ซึ่งกรมการจัดหางาน โดยสำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่จัดขึ้น พร้อมกับเยี่ยมกลุ่มแรงงานนอกระบบ กลุ่มรับงานไปทำที่บ้าน ณ ที่ทำการกลุ่มณัฐรดาผ้าฝ้ายเดินเชือก หมู่ที่ 3 ต.สันกำแพง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ โดยมี นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับ ผู้เข้าอบรมประกอบด้วย ผู้รับงานไปทำที่บ้านและผู้ผ่านการฝึกอบรมกิจกรรมเพิ่มอาชีพ เพิ่มรายได้ รวมทั้งสิ้น 50 คน การอบรมเป็นการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน มาตรา 40 สิทธิและหน้าที่ของแรงงานนอกระบบ และพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 การพัฒนาและส่งเสริมการรับงานไปทำที่บ้าน การรวมกลุ่ม การต่ออายุกลุ่ม / บุคคลที่รับงานไปทำที่บ้าน และการกู้เงินกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน ทั้งยังมีการแสดงผลิตภัณฑ์และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่ม/บุคคล ผู้รับงานไปทำที่บ้านที่มีความเข้มแข็ง และการแสดงนิทรรศการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังการเปิดงานในวันนี้ว่า แรงงานนอกระบบเป็นแรงงานส่วนใหญของประเทศมีจำนวนถึง 21.2 ล้านคน และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รัฐบาลมีนโยบายให้แรงงานนอกระบบได้รับความคุ้มครองและเข้าถึงระบบสวัสดิการภาคสังคมต่างๆ ทัดเทียมกับแรงงานในระบบ โดยกระทรวงแรงงานได้กำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วนในการส่งเสริมและพัฒนาแรงงานนอกระบบให้มีอาชีพ มีรายได้ มีหลักประกันทางสังคม และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ภายใต้การบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานในสังกัดในการเพิ่มทักษะฝีมือ การส่งเสริมให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนและตลาด การสร้างหลักประกันในการดำรงชีพเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 การคุ้มครองและสร้างความปลอดภัยในการทำงาน จังหวัดเชียงใหม่ส่วนใหญเ่ป็นแรงงานนอกระบบ จำนวน 624,616 คน หรือร้อยละ 60.18 และแรงงานในระบบ จำนวน 413,365 หรือร้อยละ 39.82 โดยส่วนใหญ่ทำงานในภาคเกษตรกรรม จำนวน 379,962 คน นอกภาคเกษตรกรรม จำนวน 263,435 คน ทำงานในอุตสาหกรรมการขายปลีก การซ่อมแซมยานยนต์ฯ มากที่สุด รองลงมาคือก่อสร้าง
ในโอกาสนี้ รมว.แรงงาน ได้มอบเงินกู้จากกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้านให้แก่กลุ่มรับงานไปทำที่บ้านคือ กลุ่มพัฒนาสตรีล้านตอง ซึ่งได้รับอนุมัติให้กู้เงินจากกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้านของกรมการจัดหางาน จำนวน 150,000 บาท ทั้งนี้ จังหวัดเชียงใหม่ มีผู้รับงานไปทำที่บ้านที่จดทะเบียนกับสำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ เป็นรายกลุ่มจำนวน 15 กลุ่ม รายบุคคล จำนวน 33 คน
จากนั้น พล.ต.อ.อดุลย์ฯ ได้มอบเกียรติบัตรให้แก่ภาคีเครือข่ายหมู่บ้านต้นลาน หมู่ที่ ๗ ต.สบเปิง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ที่มีประกันสังคมถ้วนหน้าหรือโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งหมู่บ้านของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่มีผู้ประกันตนในความรับผิดชอบ รวมทั้งสิ้น 389,851 คน แยกเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 228,504 คน มาตรา 39 จำนวน 92,689 คน มาตรา 40 จำนวน 68,658 คน สำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่ ได้ขับเคลื่อนโครงการ “หนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้าน ประกันสังคมถ้วนหน้า” โดยประสานงานร่วมกับนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครแรงงาน เพื่อสร้างเครือข่ายประกันสังคมจนผลักดันให้เกิดการประกันสังคมถ้วนหน้า ปัจจุบันมีประชากรอายุระหว่าง 15-60 ปี จำนวน 265 คน เป็นแรงงานนอกระบบที่มีคุณสมบัติสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 จำนวน 133 คน ซึ่งสำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่ ได้ประชาสัมพันธ์และรับสมัครผู้ประกันตนกลุ่มเป้าหมายเข้าสู่ระบบประกันสังคมครบถ้วน 100 %
ต่อมา รมว.แรงงานและคณะได้เยี่ยมชมการแสดงผลิตภัณฑ์และการสาธิตการทำผลิตภัณฑ์ของกลุ่มที่ผ่านการฝึกอบรมจากโครงการสร้างอาชีพสร้างรายได้ ประจำปีงบประมาณ 2562 เป็นกลุ่มรับงานไปทำที่บ้านและกลุ่มแรงงานนอกระบบที่มีความเข้มแข็ง จำนวน 5 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มณัฐรดาผ้าฝ้ายเดินเชือก เป็นงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปและกระเป๋าเดินเชือก เลขที่ 4/3 หมู่ 3 ต.สันกำแพง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ จดทะเบียนจัดตั้งกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านกับกรมการจัดหางานปี 2560 มีสมาชิก 10 คน รายได้เฉลี่ย 500,000 บาท/เดือน กำไรเฉลี่ย 80,000 บาท/เดือน แหล่งรับงานเป็นร้านค้า ช่องทางจำหน่ายสินค้าคือตลาดนัด ถนนคนเดิน ไลน์ เฟชบุค และตามออเดอร์ลูกค้า 2. กลุ่มสตรีล้านตอง เป็นงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป เลขที่ 135 หมู่ที่ 1 ต.น้ำแพร่ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ จดทะเบียนจัดตั้งกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านกับกรมการจัดหางานปี 2551 มีสมาชิกจำนวน 23 คน รายได้เฉลี่ย 90,000 บาท/เดือน กำไรเฉลี่ย 70,000 บาท/เดือน แหล่งรับงานจากผู้ให้งานที่เป็นบุคคลธรรมดา 3. กลุ่มอิษดากระเป๋าผ้า เป็นงานตัดเย็บกระเป๋าผ้า เลขที่ 35 หมู่ 2 ต.ออนใต้ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ จดทะเบียนจัดตั้งกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านกับกรมการจัดหางานปี 2559 มีสมาชิกจำนวน 10 คน รายได้เฉลี่ย 150,000 บาท/เดือน กำไรเฉลี่ย 30,000 บาท/เดือน แหล่งรับงานจากผู้ให้งานที่เป็นบุคคลธรรมดา ช่องทางจำหน่ายสินค้าคือตลาดนัด ถนนคนเดิน ไลน์ เฟชบุค และตามออเดอร์ลูกค้า 4. กลุ่มวนิดาแฮนด์เมด เป็นงานเครื่องประดับแฮนด์เมดจากเชือกเทียน เช่น สร้อย กำไล แหวน ต่างหู เป็นต้น เลขที่ 20/1 หมู่ 4 ต.สบเปิง อ. แม่แตง จ.เชียงใหม่ จดทะเบียนจัดตั้งกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านกับกรมการจัดหางานปี 2549 มีสมาชิกจำนวน 5 คน รายได้เฉลี่ย 70,000 บาท/เดือน กำไรเฉลี่ย 40,000 บาท/เดือน แหล่งรับงานเป็นร้านค้า ช่องทางจำหน่ายสินค้าคือตลาดนัด ถนนคนเดิน ไลน์ เฟชบุค และตามออเดอร์ลูกค้า 5. กลุ่มกิจกรรมเพิ่มอาชีพ เพิ่มรายได้ เป็นกลุ่มต่อยอดจากกลุ่มรับงานไปทำที่บ้าน (กลุ่มณัฐรดาผ้าฝ้ายเดินเชือก) โดยนำวัสดุเหลือใช้คือผ้าฝ้ายมาสร้างมูลค่าเพิ่มแทนการนำเศษผ้าไปขาย โดยการประดิษฐ์เป็นตุ๊กตาชุดพื้นเมือง โมบายและพวงกุญแจช้าง เป็นการเพิ่มอาชีพ เพิ่มรายได้ แก่กลุ่มฯ และขยายไปยังบุคคลที่ว่างงาน ตกงานในหมู่บ้าน ซึ่งมีจำนวนสมาชิกขณะนี้ 28 คน มีรายได้เฉลี่ย 20,000 บาท /เดือน
พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า แรงงานนอกระบบเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ หากไม่ได้รับโอกาสและไม่ได้รับการดูแลในเรื่องการประกอบอาชีพ สิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย และการสร้างหลักประกันที่ดีทางสังคมก็จะไม่มีการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน อันจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศได้ ดังนั้น แรงงานนอกระบบจึงจำเป็นต้องมีการปรับตัวให้เป็นแรงงานที่มีทักษะ มีความรู้ มีสมรรถนะสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ รวมทั้งมีการต่อยอดความรู้ในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีีคุณภาพ มีศักยภาพมีความสามารถในการแข่งขัน สามารถตอบสนองตลาดได้ต่อไป
***********************************************