กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ด้านการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ เพื่อร่วมกันพัฒนา สนับสนุน ส่งเสริม และขับเคลื่อนการนำกระบวนการประเมินผลกระทบ ต่อสุขภาพไปใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพและการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ภาคใต้และพื้นที่อื่น ๆ
วันที่ 21 มกราคม 2565 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการด้านการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมีนายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย และ ดร.กุลทัต หงส์ชยางกูร รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ทางวิชาการด้านการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ ณ ห้องประชุมกำธร สุวรรณกิจ อาคาร 1 ชั้น 1 กรมอนามัย
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากนโยบายการพัฒนาประเทศที่มุ่งเน้นการยกระดับศักยภาพทางการแข่งขันบนพื้นฐานแนวคิดการต่อยอดอดีต ปรับปัจจุบัน เพื่อปูทางสู่อนาคต ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในมิติต่าง ๆ ทั้งการคมนาคมขนส่ง เทคโนโลยี ดิจิทัล และการพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนในเวทีโลก ทำให้มีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่จำนวนมาก เกิดการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงปัจจัยกำหนดสุขภาพในบริบทที่มีความไม่แน่นอน ซับซ้อน และคาดเดาได้ยากมากขึ้นนั้น กรมอนามัยจึงได้ให้ความสำคัญต่อการผลิตและพัฒนาองค์ความรู้ด้านการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นกระบวนการมีส่วนร่วมและอาศัย องค์ความรู้ ข้อมูลเชิงประจักษ์ในการเชื่อมโยงผลกระทบต่อสุขภาพในมิติต่าง ๆ ที่เกิดจากนโยบายการพัฒนาให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้น
โดยเตรียมความพร้อมของบุคลากรสาธารณสุขในทุกระดับ และอาศัยเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการจากสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ซึ่งการลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่างกรมอนามัย และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในครั้งนี้ ถือเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ ออกแบบและพัฒนากลไกการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ เพื่อสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพและ การจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ภาคใต้ และพื้นที่อื่น ๆ รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพนักวิชาการ สร้างเครือข่ายแกนนำด้านการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพในระดับหน่วยงาน ท้องถิ่น และชุมชน โดยมีกรอบความร่วมมือการดำเนินงาน 4 ด้าน ดังนี้
1) ร่วมกันสนับสนุนและส่งเสริมการวิจัยและการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ
2) ร่วมกันพัฒนากลไกการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการสื่อสารด้านการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ รวมถึงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ดำเนินงาน
3) ร่วมกันสร้างเครือข่ายและพัฒนาบุคลากรด้านการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพในพื้นที่ภาคใต้และพื้นที่อื่น ๆ
4) ร่วมกันพัฒนา สนับสนุน ส่งเสริม และขับเคลื่อนการนำกระบวนการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ ไปใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพและการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ภาคใต้และพื้นที่อื่น ๆ
ทางด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า เป้าหมายที่สำคัญ ประการหนึ่งของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คือ การขับเคลื่อนสังคมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมกับชุมชน ท้องถิ่น ภาครัฐและเอกชน ซึ่งสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นหน่วยงานหลักของมหาวิทยาลัยที่ใช้กระบวนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ ในการขับเคลื่อนงานเชิงนโยบายบายร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น เอกชน และภาคประชาชน ในพื้นที่ภาคใต้มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายร่วมคือ “ภาคใต้แห่งความสุข” ซึ่งการจะบรรลุเป้าหมายภาคใต้แห่งความสุขนั้น คนใต้ต้องมี ความมั่นคง 4 เรื่อง คือ ความมั่นคงทางสุขภาพ ความมั่นคงทางมนุษย์ ความมั่นคงทางฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงทางอาหาร
ดังนั้น การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในกระบวนการทางนโยบาย ในการทำให้เกิดความมั่นคงทั้ง 4 เรื่องดังกล่าว โดยผลลัพธ์ที่สำคัญของการประเมินผลกระทบทางสุขภาพคือ ชุดของคำแนะนำหรือข้อเสนอแนะที่มีข้อมูลหลักฐานยืนยัน (Evidence-based recommendations) ที่สะท้อนให้เห็นถึงแนวทาง และคุณค่าหรือความสำคัญ ของการมีสุขภาวะที่ดีร่วมกันของสังคม อันจะนำไปสู่การเป็นสังคมที่น่าอยู่ สังคมที่มีสุขภาวะต่อไป
กรมอนามัย / 21 มกราคม 2564