ปภ.ชวนรู้…ทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิทำงานอย่างไร ?

จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2565 เวลา 13.26 น. เกิดเหตุภูเขาไฟใต้ทะเล Hunga-Tonga-Hunga-Ha’apai บริเวณมหาสมุทรแปซิกฟิกตอนใต้ ทางด้านตะวันออกของประเทศตองกา ห่างจากจังหวัดนราธิวาส ประเทศไทย ประมาณ 9,500 กิโลเมตร ได้เกิดการปะทุรุนแรง ทำให้เกิดคลื่นสึนามิพัดเข้าแนวชายฝั่งบริเวณเมืองนูกูอาโลฟา ประเทศตองกา และในหลายประเทศรอบแนวมหาสมุทรแปซิฟิก ถึงแม้ว่าเหตุการณ์นี้ไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย แต่ก็ถือว่าเป็นประเด็นสำคัญที่คนในสังคมได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับการตรวจวัดคลื่นสีนามิของประเทศไทย ว่า เป็นอย่างไร และประชาชนจะมีความปลอดภัยจากสีนามิแค่ไหน

วันนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จะมาเล่าให้ฟังคร่าว ๆ ถึงวิธีการทำงานของทุ่นตรวจวัดสึนามิ ว่า มีการทำงานอย่างไร และชุดข้อมูลที่ได้ต้องผ่านการวิเคราะห์ขนาดไหนถึงจะสามารถนำมาประกาศแจ้งเตือนภัยสึนามิให้กับประชาชนได้

ก่อนอื่นต้องเข้าใจกันก่อน ว่า ระบบตรวจวัดคลื่นสึนามิที่ประเทศไทยใช้เป็นะบบที่ออกแบบโดยหน่วยงานบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration : NOAA) โดยทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิ (Tsunami Detection Buoy) เป็นเครื่องมือในการติดตามเฝ้าระวังการเกิดคลื่น  สึนามิ ซึ่งเครื่องมือที่ใช้ประกอบไปด้วย 2 ส่วน ได้แก่ ทุ่นลอยบนผิวน้ำ (Surface Buoy) และชุดอุปกรณ์วัดความดันใต้ท้องทะเล (Bottom Pressure Recorder: BPR) ซึ่งเป็นแท่นติดตั้งที่บริเวณท้องมหาสมุทรลึกลงไปใต้น้ำประมาณ 2,500 – 3,600 เมตร

หลักการทำงานของเครื่องมือทั้ง 2 ส่วนนี้ จะทำงานรับส่งข้อมูลร่วมกันตลอดเวลา โดยเครื่องตรวจวัดความดันใต้ท้องทะเลจะทำหน้าที่ติดตามการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ เมื่อคลื่นสึนามิมีการเคลื่อนผ่านแท่นใต้สมุทร ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงความดันน้ำที่เครื่องวัดความดันใต้ทะเล (Bottom Pressure Recorder : BPR) เครื่องจะ    แปลงสัญญาณเป็นสัญญาณเสียงความถี่ต่ำ ส่งผ่านมายังทุ่นลอยบนผิวน้ำ (Surface Buoy) ซึ่งสัญญาณดังกล่าวจะถูกแปลงสัญญาณดาวเทียม และส่งต่อไปยังหน่วยงานบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration : NOAA)  ข้อมูลจะถูกวิเคราะห์และนำเสนอในรูปแบบกราฟความเปลี่ยนแปลงระดับน้ำ ทุก ๆ 15 นาที ในกรณีปกติ )Normal mode) และจะส่งข้อมูลทุก ๆ 15 วินาที ในกรณี Event Mode (การเปลี่ยนแปลงระดับน้ำผิดปกติ)

หาก NOAA ทำการตรวจสอบแล้ว พบว่า เป็นคลื่นสึนามิ NOAA จะแจ้งเตือนมายังศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (ศภช.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยงานด้านแจ้งเตือนภัยของประเทศอื่น ๆ รอบมหาสมุทรอินเดีย รวมถึงเชื่อมโยงปัจจัยและแนวโน้มการเกิดสึนามิจากหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมสร้างแบบจำลอง เพื่อพยากรณ์แนวโน้มการเกิดคลื่นสึนามิ และวิเคราะห์พื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบไว้ล่วงหน้า

เมื่อ ศภช. ได้รับข้อมูลการเกิดสึนามิที่แน่ชัดแล้ว จะทำการส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมแจ้งเตือนไปยังหอเตือนภัย และอุปกรณ์เตือนภัยที่ติดตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย รวมถึงกระจายข้อมูลเตือนภัยผ่านช่องทางสื่อทุกประเภท อาทิ โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย สถานีวิทยุกระจายเสียง สื่อมวลชน สื่อสังคมออนไลน์ และข้อความสั้น (SMS) แอปพลิเคชั่น DPM Alert เพื่อแจ้งให้ประชาชนอพยพออกจากพื้นที่เสี่ยงไปยังพื้นที่ปลอดภัยได้อย่างทันท่วงที

ปัจจุบันประเทศไทยได้มีการติดตั้งทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิไว้ จำนวน 2 จุด ดังนี้

จุดที่ 1 ทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิในทะเลอันดามัน (สถานี 23461) ห่างจากเกาะภูเก็ตไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 300 กิโลเมตร (กรณีเกิดสึนามิ จะสามารถวิเคราะห์และแจ้งเตือนได้ภายใน 45 นาที)

จุดที่ 2 ทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย (สถานี 23401) ห่างจากภูเก็ตไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 960 กิโลเมตร (กรณีเกิดคลื่นสึนามิ จะสามารถวิเคราะห์และแจ้งเตือนได้ภายใน 1 ชั่วโมง 45 นาที

แต่เนื่องด้วยทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิ จุดที่ 2 นี้ ได้หยุดส่งสัญญาณและเคลื่อนที่ออกจากตำแหน่งรัศมีการส่งสัญญาณของอุปกรณ์ ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2564 จนเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2565 ปภ. ได้รับแจ้งจากศูนย์บริการข้อมูลมหาสมุทรแห่งชาติอินเดีย (Indian National Center for Ocean Information Service : INCOIS) ว่า พบทุ่นดังกล่าวแล้ว ณ ชายหาดเมือง Tharangambadi รัฐทมิฬนาฑู ชายฝั่ง Coromandel สาธารณรัฐอินเดีย ขณะนี้อยู่ในความดูแลของตำรวจชายฝั่ง (Coastal police) ปัจจุบันอยู่ระหว่างประสานการเก็บกู้ทุ่นและนำกลับประเทศไทย ซึ่ง ปภ. ได้วางแผนติดตั้งทุ่นตรวจวัดสึนามิชุดใหม่ทดแทนทุ่นชุดเดิม ในจุดที่ 2 ช่วงเดือนเดือนธันวาคม 2565 ดังนั้น ในช่วงระหว่างรอกระบวนการของการจัดซื้อทุ่นตรวจวัดสึนามิชุดใหม่นั้น การเฝ้าระวังการเกิดสึนามิฝั่งอันดามัน ก็ยังคงสามารถดำเนินการได้ โดยอาศัยข้อมูลจากเครื่องมือเฝ้าระวังของหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งภายในและต่างประเทศ ประกอบการวิเคราะห์สถานการณ์การแจ้งเตือนสึนามิที่มีผลกระทบต่อประเทศไทย

ทั้งนี้ ปภ. ได้เตรียมพร้อมรับมือสึนามิอย่างครอบคลุมทุกมิติ ทั้งการเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง การเชื่อมโยงข้อมูลที่บ่งชี้ว่าจะเกิดสึนามิอย่างรอบด้าน พร้อมนำเทคโนโลยีมาใช้ในการคาดการณ์และแจ้งเตือนภัยสึนามิที่แม่นยำรวดเร็ว อันจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยให้เกิดกับประชาชน//////////