วันที่ 21 มกราคม 2565 นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ปัญหาไฟป่าซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ มักเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูแล้ง ซึ่งผลกระทบจากการเกิดไฟป่า นอกจากสร้างความเสียหายให้แก่ผืนป่าโดยตรงแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมโดยทั่วไป โดยเฉพาะปัญหาหมอกควันจากไฟป่าได้สร้างความเสียหายด้านสุขภาพของประชาชน ส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวในพื้นที่ ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้จัดตั้งกองอำนวยการควบคุมไฟป่า เพื่อดูแลพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่สำคัญ และพื้นที่ที่มีความสำคัญเป็นพิเศษ จำนวน 16 แห่ง ทั่วประเทศ ซึ่งเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา ได้มีการนำร่องเปิดกองอำนวยการควบคุมไฟป่าห้วยขาแข้ง ณ สถานีควบคุมไฟป่าห้วยขาแข้ง อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี เป็นแห่งแรก
โดยกองอำนวยการดังกล่าวมีหน้าที่จัดกำลังเจ้าหน้าที่ออกรณรงค์ประชาสัมพันธ์ในพื้นที่เพื่อเป็นการป้องกันไฟป่า และการปฏิบัติงานด้านการจัดการเชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดปัญหาไฟป่า รวมถึงการลาดตระเวนเฝ้าระวัง การรับแจ้งเหตุ และการดับไฟป่า ซึ่งการปฏิบัติงานของกองอำนวยการควบคุมไฟป่าเป็นการบูรณาการที่เข้มข้น ด้วยกำลังเจ้าหน้าที่ที่มีศักยภาพในระดับสูง ทั้งจากหน่วยงานส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อให้การตรวจติดตามสถานการณ์ไฟป่าอย่างใกล้ชิด การดับไฟป่าในพื้นที่มีประสิทธิภาพเข้าปฏิบัติงานได้อย่างทันที ทันต่อสถานการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้น ซึ่งนอกจากการกำหนดแผนดับไฟป่าตามสถานการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่ป่าทั่วไปแล้ว ยังได้ให้ความสำคัญกับพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่มีความสำคัญ เช่น อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เป็นต้น หรือพื้นที่ที่มีความสำคัญเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นที่ตั้งของพระตำหนักทุกแห่ง ซึ่งเป็นการแสดงถึงความพร้อมของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในการรองรับสถานการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้น
สำหรับ กองอำนวยการควบคุมไฟป่า จำนวน 16 แห่ง ประกอบด้วย
1. กองอำนวยการควบคุมไฟป่าเขาใหญ่ 1 จังหวัดปราจีนบุรี
2. กองอำนวยการควบคุมไฟป่าแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี
3. กองอำนวยการควบคุมไฟป่าแก่งกระจาน (ป่าละอู) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
4. กองอำนวยการควบคุมไฟป่าพรุควนเคร็ง จังหวัดนครศรีธรรมราช
5. กองอำนวยการควบคุมไฟป่าป่าพรุทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง
6. กองอำนวยการควบคุมไฟป่าพรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส
7. กองอำนวยการควบคุมไฟป่าเขาใหญ่ 2 จังหวัดนครราชสีมา
8. กองอำนวยการควบคุมไฟป่าภูกระดึง จังหวัดเลย
9. กองอำนวยการควบคุมไฟป่าพระตำหนักภูพาน จังหวัดสกลนคร
10. กองอำนวยการควบคุมไฟป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี
11. กองอำนวยการควบคุมไฟป่าตาก จังหวัดตาก
12. กองอำนวยการควบคุมไฟป่าดอยตุง จังหวัดเชียงราย
13. กองอำนวยการควบคุมไฟป่าเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
14. กองอำนวยการควบคุมไฟป่าดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่
15. กองอำนวยการควบคุมไฟป่าแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน
16. กองอำนวยการควบคุมไฟป่าพระราชวังไกลกังวล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์