กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผย ผู้แทน 9 ประเทศสมาชิกอาเซียนที่ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานเฝ้าระวังด้านโภชนาการในระดับประชาคมอาเซียน ปลื้มปีติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสนพระทัยเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาโรคขาดสารไอโอดีนให้หมดไปจากประเทศไทย
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัยและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานเฝ้าระวังด้านโภชนาการในระดับประชาคมอาเซียนครั้งนี้ ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพได้นำผู้เข้าร่วมประชุมจาก 9 ประเทศสมาชิกอาเซียน ประกอบด้วย ประเทศกัมพูชา บรูไน พม่า ลาว อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และไทย ลงพื้นที่ศึกษาดูงานการป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนในพื้นที่ จังหวัดราชบุรี โดยต่างชื่นชมโครงการควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนของประเทศไทยได้มีการดำเนินงาน มาอย่างต่อเนื่อง และปลื้มปีติที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสนพระทัยเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาโรคขาดสารไอโอดีน โดยทรงนำเกลือเสริมไอโอดีนขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปทรงแจกประชาชนในถิ่นทุรกันดาร ทรงสืบทอดเจตนารมณ์จากพระราชบิดาในการแก้ไขปัญหาโรคขาดสารไอโอดีนให้หมดไปจากประเทศไทยอย่างยั่งยืนจากที่พบคอพอกในเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษามากถึงร้อยละ 19.3 ในปี 2532 ลดเหลือเพียงร้อยละ 3.3 ในปี 2540 จนไม่เป็นปัญหาสาธารณสุขในนักเรียนชั้นประถมศึกษา และผลการสำรวจไอโอดีนในปัสสาวะของเด็กไทยตั้งแต่ ปี 2554 – 2559 พบว่าปัจจุบันเด็กไทยได้รับไอโอดีนอย่างเพียงพอ
แพทย์หญิงอัมพร กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมานโยบายหลักในการควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนของประเทศไทยคือใช้เกลือเสริมไอโอดีนเป็นมาตรการหลัก มีการรณรงค์ให้ความรู้ประชาชนในการใช้เกลือเสริมไอโอดีน ในการปรุงประกอบอาหารเป็นประจำทุกวันเพื่อป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน พร้อมทั้งได้จัดตั้งชมรมผู้ประกอบการเกลือเสริมไอโอดีนภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือขึ้น เพื่อให้สามารถดำเนินการผลิตเกลือเสริมไอโอดีน ให้ครอบคลุมทั้งประเทศ ส่วนมาตรการเสริมคือการให้ยาเม็ดเสริมไอโอดีนกับหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร 6 เดือน หลังคลอด
“ทั้งนี้ สถานการณ์โรคขาดสารไอโอดีนตั้งแต่ปี 2557 – 2559 ในพื้นที่รับผิดชอบของศูนย์อนามัยที่ 5 ราชบุรี ครอบคลุม 8 จังหวัด พบว่า ปี 2557 ค่าไอโอดีนในหญิงตั้งครรภ์ก่อนกินยาเม็ดเสริมไอโอดีนอยู่ในระดับเพียงพอ 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี และราชบุรี ปี 2558 พบเพียงพอ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี นครปฐม เพชรบุรี และราชบุรี และ ปี 2559 พบเพียงพอ 3 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และราชบุรี โดยจังหวัดกาญจนบุรี และราชบุรี พบค่าไอโอดีนในหญิงตั้งครรภ์ก่อนกินยาเม็ดเสริมธาตุไอโอดีนอยู่ในระดับเพียงพออย่างต่อเนื่อง โดยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพศูนย์ราชบุรี มีการแจกยาเม็ดเสริมไอโอดีน ธาตุเหล็ก และกรดโฟลิกแก่หญิงตั้งครรภ์ ทุกคนที่มาฝากครรภ์ และยังให้ต่อเนื่องถึงช่วงให้นมบุตร 6 เดือนหลังคลอดด้วย” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ทางด้าน แพทย์หญิงสายพิณ โชติวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กล่าวว่า สำหรับโรงงานเฮ่งสุนหลี อุตสาหกรรม โดยมีนายสมโภชน์ ธนพิรุณธร ประธานผู้ประกอบการเกลือเสริมไอโอดีนภาคกลางเป็นเจ้าของ ซึ่งเป็นพื้นที่ศึกษาดูงานในครั้งนี้ นับเป็นโรงงานหนึ่งที่ร่วมพัฒนาเครื่องผสมเกลือเสริมไอโอดีนกับสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อให้การผสมเกลือเสริมไอโอดีนของผู้ประกอบการได้คุณภาพ และเพียงพอสำหรับการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีน โดยผู้เข้าร่วมประชุมจาก 9 ประเทศสมาชิกอาเซียน ต่างให้ความสนใจและซักถามอย่างละเอียด ถึงวัตถุดิบ ขบวนการผลิต การควบคุมคุณภาพ การพัฒนาการผลิต ต้นทุนการผลิต และการตลาดกันอย่างกว้างขวาง ในความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัย ในการควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนของประเทศไทย ทั้งนี้ Dr.Lwin Mar Hlaing Deputy Head of Division Department of Public Health จากประเทศพม่าได้ชื่นชมกรมอนามัยในการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการเกลือเสริมไอโอดีนให้ความร่วมมือที่จะช่วยให้ประเทศไทยปลอดจากโรคขาดสารไอโอดีน โดยพัฒนากระบวนการผลิตเกลือเสริมไอโอดีนให้ได้คุณภาพ
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / มีนาคม 256