วันที่ 21 มกราคม ๒๕๖๕ เวลา 10.00 น. นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ ห้องประชุม 112 ชั้น 1 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ ทั้งนี้เพื่อให้ทุกหน่วยงาน ในสังกัดได้มีส่วนร่วมในการประชาสัมพันธ์การดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างทั่วถึง รวมทั้งเสนอประเด็นแถลงข่าวที่หลากหลายและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและเกษตรกร
ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวว่าส.ป.ก. ให้การสนับสนุนภารกิจการฝึกอบรม การให้ความรู้ รวมทั้งฝึกฝนทักษะงานช่างฝีมือ และมอบหมายให้ ส.ป.ก.จังหวัดทุกแห่ง ใน 72 จังหวัด โดยเริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2527 เปิดรับสมัครและคัดเลือกเกษตรกร/บุตรหลานเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน ได้เข้ารับการฝึกอบรม ณ ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมศิลปาชีพศูนย์ศิลปาชีพบางไทร อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ
ปัจจุบันมีเกษตรกรบุตรหลานเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา ผู้ยากไร้ ผู้พิการและผู้ที่สนใจในเขตปฏิรูปที่ดิน ที่ผ่านการฝึกอบรมศิลปาชีพ รวม 94 รุ่น จำนวน 12,154 ราย (หลักสูตรระยะยาว) และในปี 2558 ส.ป.ก. มีแผนจัดฝึกอบรมศิลปาชีพเพื่อวิสาหกิจชุมชน โดยแจ้งเวียนการรับสมัครให้รับทราบ ในพื้นที่ 72 จังหวัด และ ส.ป.ก. ได้คัดเลือกผู้สมัครที่ได้ลงทะเบียนและแจ้งความจำนงเข้ารับการฝึกอบรมที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดทุกแห่ง เพื่อฝึกทักษะเชิงปฏิบัติการ พัฒนาศิลปหัตถกรรมและผลิตภัณฑ์ชุมชนให้ตรงตามความต้องการ สร้างอาชีพและเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัว ปัจจุบันมีเกษตรกร บุตรหลานเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา ผู้ยากไร้ ผู้พิการและผู้ที่สนใจในเขตปฏิรูปที่ดินที่ผ่านการฝึกอบรมศิลปาชีพรวม 6,701 ราย (หลักสูตรระยะสั้น)
โดยผลการดำเนินงานในปี 2564 พบว่า กลุ่มเป้าหมายให้ความสนใจจำนวนมากมีผู้เข้ารับการฝึกอบรมทั้งสิ้นจำนวน 1,041 ราย แบ่งเป็น หลักสูตรฝึกอบรมศิลปาชีพเพื่อเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน จำนวน 884ราย และหลักสูตรศิลปาชีพเพื่อผู้สนใจ จำนวน 157 ราย และกลุ่มเป้าหมายที่เข้ารับการฝึกอบรม พบว่า จำนวน 632 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ60.17 ของเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินได้รับการส่งเสริมพัฒนามีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 3
“ในปี 2565 นี้ แนวทางยังคงเป็นการช่วยให้เกษตรกรและบุตรหลานเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินมีทักษะด้านงานศิลปหัตถกรรมสามารถนำความรู้นำไปประกอบอาชีพหลัก หรืออาชีพเสริมนอกเหนือจากทำการเกษตร เป็นการสร้างความเท่าเทียมในด้านรายได้ให้แก่เกษตรกร ภายใต้แผนยุทธศาสตร์เสริมสร้างพลังทางสังคม ที่พัฒนาทักษะอาชีพให้เกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน ให้เกิดองค์ความรู้ที่จะต่อยอดผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดรายได้เสริมนอกภาคการเกษตร ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น โดยการพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ในชุมชนให้มีความหลากหลาย น่าสนใจ ทันยุคสมัย เป็นที่นิยมและต้องการมากขึ้น รวมถึงยกระดับความรู้ความสามารถของเกษตรกรทั้งการผลิต การแปรรูป เพิ่มความน่าสนใจให้กับผลิตภัณฑ์การออกแบบ Packaging และการตลาดออนไลน์ให้กับเกษตรกร ได้มีตัวเลือกในช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของตนเอง โดยวิทยากรที่เชี่ยวชาญ มีการติดตามผลการดำเนินโครงการเพื่อประเมินผลความสำเร็จของการจัดโครงการ และผมหวังว่า โครงการนี้จะทำให้เราได้เห็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตในพื้นที่ปฏิรูปที่ดินอย่างต่อเนื่อง เพื่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของเกษตรกรให้อยู่ได้ อยู่ดี และมีความสุข”ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข กล่าวทิ้งท้าย