รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานในหอผู้ป่วยโควิด 19 ของโรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งมีการขยายเตียงสีเหลืองและสีแดงเพิ่มขึ้นเป็น 88 เตียง และเพิ่มบุคลากรดูแลผู้ป่วยกว่า 150 คน เพื่อรองรับสถานการณ์หากมีผู้ป่วยโควิดอาการหนักเพิ่มขึ้น แม้ขณะนี้จะควบคุมสถานการณ์ได้และการระบาดมีแนวโน้มทรงตัว
วันที่ 20 มกราคม 2565 ที่โรงพยาบาลราชวิถี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่ในหอผู้ป่วยโควิด 19 ของโรงพยาบาลราชวิถี ที่ได้มีการขยายจำนวนเตียงเพิ่มเติม พร้อมเพิ่มจำนวนบุคลากรในการดูแล และกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด 19 โดยจัดระบบรักษาตามอาการอย่างเหมาะสม ทั้งการดูแลรักษาที่บ้าน (Home Isolation) ในผู้ป่วยไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย ฮอสปิเทล โรงพยาบาลสนาม ในผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการมากขึ้น และส่งต่อโรงพยาบาลหลักในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง โดยมีโรงพยาบาลราชวิถีเป็นต้นแบบในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด 19 แต่ละกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ภาวะปอดอักเสบ ภาวะระบบหายใจล้มเหลว เป็นต้น และกลุ่มสีเขียวที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย ในระบบ Home Isolation ซึ่งการระบาดช่วงกลางปี 2564 Home Isolation Center โรงพยาบาลราชวิถี ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยใหม่ได้ถึงวันละ 100 ราย ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อเข้าระบบประมาณวันละ 30 ราย
นายอนุทินกล่าวต่อว่า แม้ว่าการระบาดระลอกเดือนมกราคม 2565 อยู่ในระดับทรงตัวและควบคุมสถานการณ์ได้ อย่างไรก็ตาม เพื่อรองรับสถานการณ์ที่อาจมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ กทม. โรงพยาบาลราชวิถีได้ขยายจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยอาการสีเหลืองและสีแดงเพิ่มขึ้นรวม 88 เตียง และเพิ่มบุคลากรในการดูแลกว่า 150 คน เป็นเตียงผู้ป่วยสีแดงที่ AIIR-ICU และ Semi-ICU จำนวน 17 เตียง นอกจากนี้ ยังจัดเตรียมหอผู้ป่วยวิกฤตส่วนต่อขยาย (Extended ICU) ไว้พร้อมใช้กรณีผู้ป่วยโควิดมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงกรณีมีผู้ป่วยโควิดที่เป็นเด็กเพิ่มสูงขึ้นด้วย โดยประสานสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีเป็นหน่วยรับการส่งต่อมารักษาส่วนผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังที่ต้องฟอกไต ได้เตรียมพื้นที่ดูแลไว้ 8 เตียง
ด้าน นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า การขยายเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด 19 ของโรงพยาบาลราชวิถีนั้น ในส่วนของหอผู้ป่วยวิกฤตส่วนต่อขยาย (Extended ICU) มีจำนวน 10 เตียง อากาศภายในเป็นระบบความดันลบ และมีระบบควบคุมการทำงานของเครื่องช่วยหายใจจากห้องปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เพื่อลดการเข้าไปสัมผัสผู้ป่วย สำหรับการบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 ให้แก่ประชาชน ศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด 19 โรงพยาบาลราชวิถี ให้บริการแล้วมากกว่า 130,000 ราย โดยมีศักยภาพในการให้บริการประมาณวันละ 1,200-1,500 ราย
นอกจากนี้ ยังให้บริการห้องตรวจโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ (ARI Clinic) มีผู้เข้ารับการตรวจจำนวน 100 รายต่อวัน อัตราพบผู้ติดเชื้อโควิดประมาณ 25% และยังให้บริการตรวจผู้เดินทางเข้าประเทศในระบบ Test &Go ตามนโยบายวันละ 30 คนตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาด้วย
******************************* 20 มกราคม 2565