วธ.-จุฬาฯ ดึงคนรุ่นใหม่ร่วมพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน อนุรักษ์วัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของท้องถิ่น จัดประกวด“ชุมชนยั่งยืนหวนคืนวัฒนธรรม” รับสมัครตั้งแต่บัดนี้ถึงเดือนก.พ.นี้
วันที่ 20 มกราคม 2565 นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานกล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษในงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการประกวดนโยบายทางเลือกและแนวคิดริเริ่มการพัฒนาชุมชนยั่งยืน รวมทั้งการเสวนาวิชาการภายใต้หัวข้อ “ชุมชนยั่งยืนหวนคืนวัฒนธรรม” ผ่านช่องทางออนไลน์เฟซบุ๊กเพจ “เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องของเรา” เฟซบุ๊กคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เฟซบุ๊กสถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและเฟซบุ๊กกระทรวงวัฒนธรรม เวลา 10.00-12.00 น. โดยมีนางสาวเพชรรัตน์ สายทอง ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้บริหารสถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรนอร์เวย์ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้อง i-think อาคาร 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายอิทธิพล กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มีนโยบายในการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากด้วยมิติทางวัฒนธรรมและพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมวัฒนธรรมให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก และวธ.เล็งเห็นถึง การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อการพัฒนามวลรวมในโลกโดยเฉพาะความยั่งยืนบนพื้นฐานของวัฒนธรรมเป็นวิถีที่ดีงามของประเทศไทย รวมถึงส่งเสริมแนวคิดในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนบนรากฐานการคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์และวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อให้ผู้ที่มาทำงาน ศึกษาต่อหรือย้ายถิ่นฐานที่มีถิ่นกำเนิดจากชุมชนแห่งนั้นได้ย้อนรำลึกและให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่ชนบทอย่างบูรณาการทั้งมิติด้านสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่วัฒนธรรมท้องถิ่นด้วยการนำเรื่องราวความโดดเด่นของวัฒนธรรมท้องถิ่นมาสร้างจุดขายหรือต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ บริการและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ทำให้วัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นที่รู้จักแพร่หลายและสร้างรายได้แก่ชุมชน ซึ่งมีตัวอย่าง เช่น ผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาที่นำรูปแบบมาจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงมรดกโลก การแสดงโขนของไทย นวดไทยและการแสดงโนราที่ยูเนสโกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติสามารถนำมาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มวัฒนธรรมท้องถิ่นล้วนมาจากวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์และความเชื่อของท้องถิ่น ซึ่งเว็บไซต์ U.S. News ได้จัดอันดับประเทศที่มีมรดกวัฒนธรรมที่ดีที่สุดในโลก ประจำปี 2021 โดยไทยอยู่ในอันดับ 7 ของโลก
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า วธ.ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโครงการประกวดนโยบายทางเลือกและแนวคิดริเริ่มการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ภายใต้หัวข้อ “ชุมชนยั่งยืนหวนคืนวัฒนธรรม” ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงกรกฎาคม 2565 เพื่อเปิดโอกาสให้แก่นักเรียน นิสิตและนักศึกษา ได้มีส่วนร่วมเสนอแนวคิดการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนและยังคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งโครงการฯ มีกิจกรรม อาทิ การเสวนาทางวิชาการ การบรรยายพิเศษหัวข้อต่างๆ เช่น ประวัติศาสตร์ ศิลปะและวัฒนธรรมไทย การสร้างแบรนด์ กิจกรรม Design Thinking การออกแบบแนวคิดริเริ่มและนวัตกรรมด้านชุมชนยั่งยืน เป็นต้น ซึ่งโครงการนี้สนับสนุนการขับเคลื่อนโมเดล BCG และการผลักดัน Soft Power ความเป็นไทยตามนโยบายรัฐบาล และอุตสาหกรรมวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ 5 F ได้แก่ อาหาร (Food) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น (Fashion) มวยไทย (Fighting) เป็นการนำทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอดสร้างสรรค์ เช่น ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) การบริการและการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งวธ.ได้ดำเนินโครงการ“เที่ยวชุมชน ยลวิถี”นำร่อง 10 ชุมชนต้นแบบโดยนำทุนทางวัฒนธรรมในชุมชน มาพัฒนาต่อยอดสู่การท่องเที่ยววิถีชุมชน สร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ชุมชนเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สร้างความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนให้แก่ประเทศไทยในทุกมิติ
ทั้งนี้ โครงการประกวดฯ เปิดรับสมัครนักเรียน นิสิตและนักศึกษาอายุไม่เกิน 25 ปี เข้าร่วมกิจกรรมในประเภททีมไม่เกินทีมละ 3 คน ส่งใบสมัครพร้อมทั้งระบุแนวคิดริเริ่มหรือนวัตกรรมด้านชุมชนยั่งยืนในชุมชนเป้าหมายได้ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม – 28 กุมภาพันธ์ 2565 ผ่านทาง https://www.eng.chula.ac.th สอบถามรายละเอียดได้ที่ cuengworkshop@gmail.com และเฟซบุ๊กเพจ เรื่องสิ่งแวดล้อมเรื่องของเรา
ซึ่งโครงการฯมีพิธีปิดและมอบรางวัลในเดือนกรกฎาคม 2565 ประกอบด้วยเกียรติบัตรและเงินรางวัล ได้แก่ รางวัลชนะเลิศได้รับ 50,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้รับ 30,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้รับ 10,000 บาท และรางวัลชมเชย 2 รางวัล ได้รับรางวัลละ 5,000 บาท