กระทรวงพาณิชย์ ผนึกกำลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งผลักดันประเด็นด้านเศรษฐกิจของอาเซียน 13 ประเด็น ในวาระที่ไทยเป็นประธาน มั่นใจ สามารถดำเนินการให้ประสบความสำเร็จได้ตามเป้าในปีนี้ พร้อมชี้ ส่งผลดีต่อผู้ประกอบการไทยแน่นอน
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ในฐานะที่ไทยเป็นประธานอาเซียนปีนี้ กระทรวงพาณิชย์ในฐานะแม่งานของเสาเศรษฐกิจได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประเทศสมาชิกอาเซียนอีก 9 ประเทศ ผลักดันให้งานด้านเศรษฐกิจที่อาเซียนจะต้องดำเนินการให้สำเร็จในปีนี้ คืบหน้าไปได้ด้วยดี เชื่อมั่นว่าจะสามารถประกาศความสำเร็จภายใต้แนวคิด “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” (Advancing Partnership for Sustainability) ใน 3 ด้าน 13 ประเด็นได้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ ดังนี้
ด้านแรก “Future Orientation” การเตรียมความพร้อมอาเซียนรับมือการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4IR) ประกอบด้วย 5 ประเด็น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์รับผิดชอบใน 2 ประเด็น ได้แก่ (1) การจัดทำแผนงานตามกรอบบูรณาการด้านดิจิทัลของอาเซียน เพื่อรองรับการก้าวสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ประกอบด้วยแผนงาน 6 ด้าน อาทิ การอำนวยความสะดวกทางการค้า การพัฒนาระบบการชำระเงินดิจิทัล การพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะด้านดิจิทัล และการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งคืบหน้าไปได้ด้วยดี และ (2) การจัดทำแนวทางการพัฒนาแรงงานมีทักษะ/ผู้ประกอบวิชาชีพเพื่อรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4IR) ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะร่วมกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN-BAC) จัดประชุม Symposium ในวันที่ 21 มิถุนายน 2562 ณ กรุงเทพ โดยจะเชิญวิทยากรจากภาคธุรกิจและนักวิชาการจากทั้งในและนอกภูมิภาคมาร่วมระดมสมองจัดทำแนวทางการพัฒนาแรงงานมีทักษะ/ผู้ประกอบวิชาชีพ เพื่อรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของหน่วยงานเศรษฐกิจอื่นๆ ได้แก่ (3) การจัดทำแผนงานด้านนวัตกรรมของอาเซียน โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ (4) การประกาศปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมของอาเซียนไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยกระทรวงอุตสาหกรรม และ (5) การส่งเสริมการใช้ดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยอาเซียน โดย สสว.
ด้านที่สอง “Enhanced Connectivity” การส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาคอาเซียน ประกอบด้วย 5 ประเด็น มีประเด็นที่กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้รับผิดชอบหลักคือ (6) หาข้อสรุปการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ในปี 2562 โดยไทยได้แสดงความพร้อมการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม RCEP เพื่อผลักดันการเจรจาฯ ให้สำเร็จตามเป้าหมาย และมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่นๆ ประกอบด้วย (7) การเชื่อมโยงระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window: ASW) โดยกรมศุลกากร (8) การผลักดันการใช้เงินสกุลท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนการค้าและการลงทุนในภูมิภาค โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (9) การพัฒนากลไกการระดมทุนจากภาคเอกชนสำหรับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Financing) โดยกระทรวงการคลัง และ (10) การจัดทำแผนแม่บทด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหารของอาเซียน (ASEAN Gastronomy Tourism) โดย ททท.
ด้านที่สาม “Sustainable in all dimensions” การส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจของอาเซียนอย่างยั่งยืนในทุกมิติ ประกอบด้วย 3 ประเด็น คือ (11) การจัดทำแนวทางในการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการประมงที่ยั่งยืน โดยกรมประมง (12) การจัดทำแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของตลาดทุนอาเซียน โดย ก.ล.ต. และ (13) การจัดตั้งศูนย์เครือข่ายวิจัยและพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพและพลังงานชีวภาพในภูมิภาคอาเซียน โดยกระทรวงพลังงาน ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็กำลังเร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานเช่นเดียวกัน
นางอรมน เสริมว่า ขณะนี้ทั้ง 13 ประเด็นมีความคืบหน้าไปได้ด้วยดี โดยไทยจะรายงานให้ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AEM Retreat) ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 22-23 เมษายน 2562 ณ จังหวัดภูเก็ต ให้ความเห็นชอบ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้ประสบความสำเร็จภายในปี 2562 ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ต่อไป
ทั้งนี้ การค้าระหว่างไทยกับอาเซียนปี 2561 มีมูลค่าการค้ารวม 113,934 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 13 โดยไทยส่งออกไปอาเซียนในปี 2561 มูลค่า 68,437 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 45,497 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยเกินดุล 22,940 ล้านเหรียญสหรัฐ และการส่งออกของไทยไปอาเซียนในปัจจุบัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 27 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย
———————————–
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์