ปลัดกระทรวงสาธารณสุขลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ รพ.ศรีสะเกษ และ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี แนวโน้มเริ่มพบผู้ติดเชื้อลดลง ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ ย้ำให้จัดระบบการดูแลรักษาที่บ้านหรือในชุมชน เร่งฉีดวัคซีนโดยเฉพาะการฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 ช่วยเพิ่มภูมิต้านทานลดป่วยหนักลดเสียชีวิต และจัดการโรงพยาบาลตามแนวทาง COVID Free Setting
วันที่ 18 มกราคม 2565 นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 10 และคณะผู้บริหารติดตามสถานการณ์โควิด 19 ที่ รพ.ศรีสะเกษ และ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี และกล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ระลอกนี้พบว่าเป็นสายพันธุ์โอมิครอนมากขึ้น ซึ่งผู้ติดเชื้อกว่า 90% ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย อัตราการเสียชีวิตอยู่ในระดับต่ำ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ปรับการดูแลรักษาให้เป็นระบบดูแลที่บ้านหรือในชุมชน (Home Isolation / Community Isolation) เป็นลำดับแรก ซึ่งทั้ง 2 จังหวัดพบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่มีแนวโน้มลดลง สอดคล้องตามภาพรวมของประเทศ ได้ใช้การดูแลผู้ติดเชื้อด้วยระบบ HI/CI มีการจัดตั้ง Call Center ของจังหวัดและศูนย์ประสาน โควิด 19 ประจำอำเภอ / ตำบล ทำให้ผู้ติดเชื้อที่มีผลตรวจ ATK เป็นบวกได้เข้าสู่ระบบ HI อย่างรวดเร็ว โดยมีบุคลากรทางการแพทย์ติดตามอาการต่อเนื่อง หากมีอาการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นจะส่งต่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพื่อสำรองเตียงไว้สำหรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและสีแดงที่ต้องใช้ออกซิเจนไฮโฟลว์ หรือใช้เครื่องช่วยหายใจ
ทั้งนี้ ได้เน้นให้ดำเนินงานตามมาตรการ VUCA โดยเฉพาะการสื่อสารให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน และจัดทำให้โรงพยาบาลเป็นพื้นที่ปลอดภัยจากโควิด 19 (COVID Free Setting) เช่น มีการคัดกรองประชาชนที่มารับบริการจากประวัติการรับวัคซีนหรือตรวจ ATK แยกการจัดบริการผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจออกจากผู้ป่วยอื่น เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่กระจายเชื้อ ซึ่งหากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ดี คาดว่าโรคโควิด 19 จะเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นในอนาคต
*********************18 มกราคม 2565