เมื่อวันที่ 16 ม.ค. ที่ผ่านมา ได้มีเวทีเสวนา “รวมกัลยาณมิตร ชุบชีวิตคลองฝั่งธนบุรี” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จัดโดยโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบชุมชนริมคลองฝั่งธนบุรีด้วยเครือข่ายคลังสมองของพื้นที่และแผนผังภูมินิเวศเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวอย่างยั่งยืน (โครงการ Green Thonburi) เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนถึงแนวทางการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่ชุนชนริมฝั่งคลอง บนฐานทรัพยากรและศักยภาพของชุมชน ระหว่างตัวแทนชุมชนริมฝั่งคลอง นักวิจัย และว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.
ดร.กัญจนีย์ พุทธิเมธี อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า การที่ภาครัฐให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืองด้วยระบบถนน ทำให้คูคลองที่เคยเป็นระบบคมนาคมสำคัญของคนฝั่งธนฯถูกมองข้าม
“ระบบคูคลองคือหนึ่งในต้นทุนด้านทรัพยากร ที่ทำให้ชุมชนในพื้นที่บริเวณนี้มีอัตลักษณ์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตที่น่าสนใจ แต่เมื่อระบบคมนาคมที่เข้ามา ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการใช้คลองเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทาง ทำให้คูคลองในฝั่งธนฯ จำนวนมากถูกปล่อยทิ้งให้ตื้นเขิน หรือกลายเป็นแหล่งรับน้ำเสียจากเมือง โดยเราพบว่าการทำระบบขนส่งทางน้ำ (Water Transportation) ต่อเชื่อมกับระบบถนนหรือระบบราง และเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเดินทางเข้าสู่เมือง เราจะสามารถทำให้พื้นที่ฝั่งธนฯ ที่มีความโดดเด่นทั้งด้านกสิกรรม ธรรมชาติ และวิถีชีวิต เหล่านี้ เป็น “พื้นที่เศรษฐกิจสีเขียว” (Green Economy) ที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนในชุมชนได้จริง”
คุณรสนา โตสิตระกูล หนึ่งในว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า อยากให้มองว่า คูคลองเป็นมากกว่าเส้นทางระบายน้ำ และต้องมีงบประมาณมาพัฒนาคูคลองอย่างจริงจัง โดยยกตัวอย่าง โครงการขุดอุโมงค์ระบายน้ำเขตภาษีเจริญ บางแค บางบอน บางขุนเทียน ลงสู่แก้มลิงคลองมหาชัย ของ กทม. ที่ใช้งบประมาณถึง 6 พันล้านบาท สามารถนำมาขุดลอกคลองทั้ง กทม. ได้ระยะทางมากกว่า 60,000 กิโลเมตร (ต้นทุนค่าขุดลอกคลอง ประมาณ 1 แสนบาท/กิโลเมตร)
“เมื่อคูคลองได้รับการพัฒนา และมีการเชื่อมโยงกันและเชื่อมกับระบบขนส่งอื่นๆ นอกจากทั้งเส้นทางสัญจรเพิ่มขึ้นแล้ว ยังจะเป็นเส้นทางลำเลียงผลผลิตในสวนออกมาขายที่ตลาด หรือขายให้กับนักท่องเที่ยว สิ่งเหล่านี้จะเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่เหล่านี้ได้ และพอเกิดสิ่งนี้ขึ้นมันก็จะย้อนไปทำให้คนในชุมชนหันมาดูแลคูคลองของเขาเองด้วยเช่นกัน”
ด้านคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. อีกท่านหนึ่งที่มาร่วมในเวทีนี้ กล่าวว่า นอกจากการทำให้คูคลองที่เป็นเสมือนเส้นเลือดฝอย ในการช่วยนำคนเข้าสู่ระบบเส้นเลือดหลักทั้งรถไฟฟ้าและระบบถนนแล้ว การมีหน่วยงานด้าน Creative Economy เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนริมคลองได้
“Creative Economy จะทำให้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์นั้นเป็นที่สนใจของคนได้ ทำให้การปลูกผัก การปลูกส้ม เป็นอาชีพที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ เกิดเป็นเศรษฐกิจสีเขียวที่สามารถรักษาความเป็นชุมชนที่มีอัตลักษณ์ของตนเองได้ ซึ่งอยากให้ กทม. มีสำนักนี้เกิดขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ไปดูแล ไปแนะนำคนกลุ่มนี้”
คุณสัมพันธ์ มีบรรจง หรือน้าแอ๊ว จากชุมชนบางประทุน ที่เข้าร่วมในเวทีเสวนา กล่าวว่า ผลสำเร็จจากการได้มาทำงานร่วมกับ มจธ. ภายใต้โครงการ Green Thonburi และโครงการอื่นๆมายาวนานก็คือการทำให้คนในชุมชนได้มาร่วมกันคิดร่วมกันทำ
“ที่ผ่านมาก็มีคนในชุมชนขายสวนขายที่ไปไม่น้อย เราก็พยายามรวมกลุ่มคนที่มีแนวคิดเดียวกันในการรักษาความเป็นชุมชนเกษตรของเรา เป็นกลุ่มรักบางประทุน ที่ได้ มจธ. และอาศรมศิลป์ เข้ามาช่วยสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ และทำให้พวกเราเห็นคุณค่าของสิ่งที่เรามี โดยเฉพาะในเชิงเศรษฐกิจ เกิดเป็นกลุ่มแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร ที่ได้เป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และมีการทำการตลาดออนไลน์ไปพร้อมกัน ที่สำคัญทำให้เราได้รู้จักเพื่อนๆ ในชุมชนอื่นๆ ที่ทำให้เกิดการแชร์ความคิด ประสบการณ์ และเกิดการทำงานเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งในปัจจุบัน”
ดร.รัตมณี อ๋องสกุล จากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย นักวิจัยโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวชุมชนคลองฝั่งธนบุรี กล่าวสรุปว่า สิ่งที่ผู้สมัครผู้ว่า กทม. และผู้นำชุมชน สะท้อนออกมาในเวทีนี้ ทั้งเรื่องระบบคมนาคม และศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวระดับพื้นที่ เป็นหนึ่งในเป้าหมายของโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบชุมชนริมคลองฝั่งธนบุรีด้วยเครือข่ายคลังสมองของพื้นที่และแผนผังภูมินิเวศเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย สถาบันคลังสมองของชาติ ชุมชนคลองบางประทุน ย่านตลาดพลู ชุมชนพูนบำเพ็ญ ชุมชนคลองบางมด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โรงเรียนรุ่งอรุณ สถาบันอาศรมศิลป์ และมหาวิทยาลัยสยาม โดยการสนับสนุนของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) โดยใช้เครื่องมือยุทธศาสตร์ “แผนผังภูมินิเวศ” ในการกำหนดแนวทางการพัฒนาพื้นที่ และเศรษฐกิจสีเขียวบนฐานต้นทุนนิเวศวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมของชุมชน โดยดำเนินการร่วมกับ “คลังสมองของพื้นที่” หรือเครือข่ายภาคชุมชน-ภาควิชาการ-ภาครัฐ ในทั้ง 4 พื้นที่คือ ชุมนพูนบำเพ็ญ เขตภาษีเจริญ ชุมชนตลาดพลู เขตธนบุรี ชุมชนคลองบางประทุน เขตจอมทอง และชุมชนคลองบางมด เขตทุ่งครุ-บางขุนเทียน รวมถึงการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายต่อ กทม. เพื่อการสนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียวระดับกลุ่มชุมชนที่เชื่อมโยงชุมชนร่วมสายคลองฝั่งธนบุรีเข้าด้วยกัน ซึ่งจะทำให้การพัฒนาเชิงพื้นที่มีความยั่งยืนต่อไป