กระทรวงสาธารณสุข ยกระดับการฝากครรภ์คุณภาพของประเทศไทย เน้น ส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมที่พึงได้ในช่วงตั้งครรภ์ รวมถึงจัดภาคีเครือข่าย เพื่อให้หญิงตั้งครรภ์ทุกคน ทุกสิทธิสามารถเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม
วันที่ 17 มกราคม 2565 นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการแถลงข่าว “การฝากครรภ์คุณภาพสำหรับประเทศไทย” ณ ห้องประชุมกำธร สุวรรณกิจ อาคาร 1 ชั้น 1 กรมอนามัย ว่า กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ประกาศนโยบาย “ฝากครรภ์คุณภาพ” เมื่อปี 2559 โดยให้หญิงตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงต่ำมาฝากครรภ์อย่างน้อย 5 ครั้ง อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาเดียวกันองค์การอนามัยโลกได้ศึกษา พบว่าอัตราการเกิดไร้ชีพของทารกในกลุ่มประเทศแอฟริกาเพิ่มขึ้น เมื่อฝากครรภ์ 5 ครั้ง จึงได้ประกาศคำแนะนำเป็นฝากครรภ์ 8 ครั้ง สำหรับประเทศไทยพบว่า ระหว่างปี พ.ศ. 2560-2564 ผลลัพธ์ด้านสุขภาพแม่และเด็กได้แก่ อัตราส่วนการตายมารดา อัตราตายทารกแรกเกิดภายใน 28 วัน แม้จะบรรลุเป้าหมาย SDGs ของโลกแต่ก็ยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกันกับทารกแรกเกิดน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ การคลอดก่อนกำหนดและอัตราการเกิดไร้ชีพ ยังไม่ลดลง
นอกจากนี้ งานวิจัยเรื่องสถานการณ์การฝากครรภ์ประเทศไทย พบว่า แท้จริงแล้วจำนวนครั้งของการฝากครรภ์โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 10 ครั้งต่อการตั้งครรภ์ แม้ในครรภ์ที่มีความเสี่ยงต่ำ และยังมีกลุ่มที่มาฝากครรภ์ครั้งแรกช้ากว่าที่แนะนำคือ หลังอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ มากถึงร้อยละ 25.7 ด้วยเหตุผลและความจำเป็นดังกล่าว และภาระงานเดิมการเพิ่มจำนวนครั้งในการฝากครรภ์เป็น 8 ครั้ง จึงอาจไม่เป็นปัญหาในทางปฏิบัติ แต่ต้องมุ่งเน้น ด้านคุณภาพ โดยให้ได้รับกิจกรรมที่ควรได้รับตามคำแนะนำ ในแต่ละช่วงอายุครรภ์ ดังนั้นในปี 2565 กระทรวงสาธารณสุขจึงได้มีการพัฒนาและยกระดับการฝากครรภ์ สำหรับประเทศไทย ซึ่งมุ่งเน้นกิจกรรมบริการที่สำคัญให้เป็นไปตามมาตรฐานสอดคล้องตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก เพื่อให้หญิงตั้งครรภ์ทุกคน สามารถเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและเท่าเทียม โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในการปรับค่าชดเชยกิจกรรมบริการฝากครรภ์ ตามชุดสิทธิประโยชน์ของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ด้าน นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการที่กรมอนามัยได้ร่วมประชุมกับผู้เชี่ยวชาญจากโรงเรียนแพทย์ ผู้แทนจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย แพทย์และพยาบาลที่ให้บริการคลินิกฝากครรภ์ เพื่อทบทวนและพัฒนายกระดับบริการฝากครรภ์คุณภาพ โดยมุ่งเน้นกิจกรรมบริการที่สำคัญให้เป็นไปตามมาตรฐานสอดคล้องตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกนั้น ขณะนี้ได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบโดยคณะกรรมการอนามัยแม่และเด็กแห่งชาติ จากการประชุมเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2564 เรียบร้อยแล้ว โดยในปี 2565 การยกระดับบริการฝากครรภ์มุ่งเน้น 3 ประเด็น ดังนี้
1) การบริการฝากครรภ์คุณภาพตามแนวทางวิถีชีวิตใหม่ โดยเน้น ส่งเสริม สนับสนุน ให้หญิงตั้งครรภ์ฝากครรภ์ก่อน 12 สัปดาห์ และฝากครรภ์ต่อเนื่องตามเกณฑ์ฝากครรภ์ 8 ครั้ง
2) หญิงตั้งครรภ์ต้องได้รับบริการตามกิจกรรมที่กำหนดไว้ในแต่ละช่วงอายุครรภ์อย่างครบถ้วนตามแนวทางการฝากครรภ์คุณภาพสำหรับประเทศไทย พ.ศ. 2565
3) จัดเครือข่ายบริการ ฝากครรภ์และมีระบบส่งต่อไปยังสถานบริการที่มีศักยภาพ ทั้งนี้ เพื่อให้หญิงตั้งครรภ์ทุกคน ทุกสิทธิ ได้รับบริการฝากครรภ์ที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม”
นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สิทธิประโยชน์บริการดูแลการฝากครรภ์ เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งให้แก่หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นคนไทยทุกสิทธิโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย กิจกรรมบริการที่หญิงตั้งครรภ์จะได้รับ เป็นไปตามแนวทางการดูแลหญิงตั้งครรภ์แนวใหม่ขององค์การอนามัยโลกที่กรมอนามัยและราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ แห่งประเทศไทยแนะนำ โดยในปีงบประมาณ 2565 สปสช.โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้มีการปรับหลักเกณฑ์และแนวทางการจ่ายค่าบริการฝากครรภ์ใหม่ จากเดิมเบิกจ่ายได้จำนวน 5 ครั้ง เป็นไม่จำกัดจำนวนครั้งของการฝากครรภ์ กล่าวคือ เบื้องต้นเป็นไปตามแนวทางการบริการฝากครรภ์หญิงตั้งครรภ์ของกรมอนามัย จำนวน 8 ครั้ง และหากแพทย์ที่ดูแลพิจารณาแล้ว เห็นว่ามีความจำเป็น ก็สามารถนัดมาตรวจติดตามเพื่อดูแล มากกว่า 8 ครั้งได้
ปีงบประมาณ 2565 คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้มีมติปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้สามี/คู่ของหญิงตั้งครรภ์ทุกราย ให้ได้รับการตรวจคัดกรองโรคซิฟิลิสและโรคธาลัสซีมียพร้อมกับหญิงตั้งครรภ์ เพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อจากสามีสู่หญิงตั้งครรภ์และส่งผลต่อทารกในครรภ์ สามารถเข้ารับบริการได้กับหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพทุกแห่งที่สะดวก สุดท้ายนี้ ในการไปรับบริการฝากครรภ์ ขอแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ทุกท่าน ได้ไปรับบริการฝากครรภ์ที่หน่วยบริการ ที่อยู่ใกล้บ้าน หรือที่สะดวกในการไปใช้บริการเป็นการประจำ ณ หน่วยบริการแห่งเดิมอย่างต่อเนื่อง ไม่ควรเปลี่ยนหน่วยบริการฝากครรภ์หลายแห่ง ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการดูแลครรภ์ที่ต่อเนื่องต่อไป
กรมอนามัย/ 17 มกราคม 2565