สธ.จับมือ 3 กระทรวงขับเคลื่อนมาตรฐานใน 50,000 สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยด้วยหลัก ‘3 ช.’

กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงศึกษาธิการ ขับเคลื่อนมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติสู่สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยกว่า 50,000 แห่งทั่วประเทศ โดยยึดหลัก “3 ช” ชักชวน ชี้แนะ และช่วยสนับสนุน

วันที่ (7 มีนาคม 2562) แพทย์หญิงอัมพร  เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัยและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังร่วมแถลงข่าวมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติสู่การปฏิบัติร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงศึกษาธิการ ณ ห้องประชุมปกรณ์ อังศุสิงห์ ชั้น 2 อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กรุงเทพมหานคร ว่า การพัฒนาคุณภาพศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในปัจจุบันมีหลายหน่วยงานเข้ามาดูแล โดยแต่ละหน่วยงานต่างดำเนินงาน ตามแผนงานของตนเอง จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนามาตรฐานกลางในการดูแลเด็กปฐมวัย เพื่อให้เด็กปฐมวัยได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องทุกช่วงวัย ซึ่งจากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยปี 2559 พบว่า เด็กอายุ 3 – 5 ปี   ร้อยละ 15.3 ยังไม่ได้เรียนหนังสือ เนื่องจากการเข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษาและขาดการดูแลที่ดีและมีคุณภาพ ประกอบกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560 – 2564) มีเป้าหมายในการพัฒนาเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะเด็กปฐมวัยให้มีพัฒนาการเต็มศักยภาพ โดยกำหนดตัวชี้วัดให้เด็กมีพัฒนาการสมวัยไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ซึ่งในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือบูรณาการ  4 กระทรวงด้านงานเด็กปฐมวัยปี พ.ศ.2560 กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมจัดทำมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติโดยได้นำมาตรฐานสาธารณสุขด้านเด็กปฐมวัย เช่น ให้เด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไปรับประทานอาหารที่ครบถ้วนในปริมาณที่เพียงพอ และส่งเสริมพฤติกรรมการกินที่เหมาะสม มีการจัดการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ เฝ้าระวังการเจริญเติบโตของเด็ก และดูแลการเจ็บป่วยเบื้องต้น รวมทั้งมีแผนและดำเนินการตรวจสุขอนามัยประจำวัน ตรวจสุขภาพประจำปี และป้องกันควบคุมโรคติดต่อ รวมทั้งเฝ้าระวังติดตามการเจริญเติบโตของเด็กเป็นรายบุคคลพร้อมบันทึกผลอย่างต่อเนื่องเข้าร่วมจัดทำและบรรจุไว้ในมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติฉบับนี้ด้วย

“ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมบูรณาการเพื่อติดตามผลลัพธ์การเจริญเติบโตมีพัฒนาการสมวัย รวมทั้ง   เฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย ด้วยคู่มือ DSPM เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการส่งเสริม สนับสนุนการคัดกรองพัฒนาการเด็กอายุ 0-5 ปี โดยการขับเคลื่อนมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติสู่การปฏิบัติ ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงศึกษาธิการในครั้งนี้   จึงเป็นการขับเคลื่อนสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยกว่า 50,000 แห่ง ให้นำมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติฉบับนี้ไปใช้ ในจำนวนนี้มีสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 45 แห่ง และเป็นสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยลักษณะพิเศษที่รับเด็กตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไปจนถึงเด็กอายุ 3 ปี ซึ่งมีแนวทางการขับเคลื่อนโดยยึดหลัก “3 ช” ได้แก่ 1. ช.ชักชวน ให้สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุขและนอกกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีอยู่ ทุกตำบลทั่วประเทศร่วมกันเรียนรู้และนำมาตรฐานนี้ไปใช้ในการดำเนินงานของสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยนั้นๆ 2. ช. ชี้แนะ โดยสร้างความเข้าใจให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลเด็กของสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยให้มีความรู้ สามารถนำไปใช้ได้เป็นตัวบ่งชี้ที่เกี่ยวข้องกับด้านสาธารณสุข และ3. ช.ช่วยสนับสนุน บุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเต็มความสามารถเพื่อให้สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยทุกแห่งดำเนินงานอย่างมีมาตรฐาน เพื่อเป็นประโยชน์ในการร่วมกันสร้างเด็กไทยคุณภาพให้เกิดขึ้นต่อไป” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

*********************************************