มว. พร้อม! ช่วยเหลือห้องปฏิบัติการทดสอบ แก้ปัญหา DNA หมูปนเปื้อน ด้วยเทคนิคที่สากลยอมรับ

จากการที่สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ออกประกาศว่าพบ DNA หมูในตัวอย่างผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นเนื้อวัว หลังจากการตรวจวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์หา DNA หมู ซึ่งผลการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ ตรวจพบสารพันธุกรรม (DNA) ของหมูในตัวอย่างที่ส่งตรวจ

ปัญหาการปนเปื้อนของเนื้อหมูในเนื้อสดชนิดอื่นหรือการปนเปื้อนของเนื้อหมูในกลุ่มอาหารแปรรูป เป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อกลุ่มผู้บริโภคภายในประเทศ และการส่งออกอาหารฮาลาลของประเทศไทย ด้วยเหตุผลทั้งทางด้านสุขภาพและ/หรือด้านศาสนา  อีกทั้งยังมีกฎและข้อบังคับในการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก ด้วยเหตุนี้ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพเพื่อรองรับ การตรวจสอบการปนเปื้อนด้วยวิธีที่มีความถูกต้องและเชื่อถือได้

เทคนิคการตรวจวัดสารพันธุกรรมของเนื้อหมู

ในปัจจุบันเทคนิคที่ใช้ในการตรวจวัดสารพันธุกรรมของเนื้อหมู ได้แก่ เทคนิค PCR (Polymerase Chain Reaction), LAMP (Loop Mediated Isothermal Amplification, qPCR (Quantitative Real Time Polymerase Chain Reaction) และ dPCR (Digital Polymerase Chain Reaction) โดยที่เทคนิคการวัดสารพันธุกรรมของเนื้อหมูด้วยเทคนิค PCR และ LAMP เป็นการตรวจวัดสารพันธุกรรมในเชิงคุณภาพ (Qualitative Measurement) ในขณะที่ qPCR และ dPCR สามารถตรวจวัดสารพันธุกรรมของเนื้อหมูในเชิงปริมาณ (Quantitative Measurement)

 มว. พร้อมช่วยเหลือห้องปฏิบัติการทดสอบด้านอาหารของไทยให้มีศักยภาพในการตรวจสอบเพื่อส่งเสริมการพัฒนาด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอาหารในประเทศไทยให้มีความถูกต้อง และน่าเชื่อถือ

สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ผู้ดูแลมาตรฐานการวัดของประเทศไทย มีบทบาทในการพิสูจน์ความถูกต้อง แม่นยำของกระบวนการวัดและพัฒนามาตรฐานให้แก่ห้องปฏิบัติการ       สอบเทียบ และทดสอบภายในประเทศไปสู่ระดับสากล ได้คำนึงถึงความสำคัญของการแก้ปัญหาการปนเปื้อนของเนื้อหมูในอาหารฮาลาลมาโดยตลอด ซึ่งที่ผ่านมา มว. โดยกลุ่มงานวิเคราะห์ชีวภาพ ฝ่ายเคมีและชีวภาพ ได้มีการพัฒนามาตรฐานให้แก่ห้องปฏิบัติการทดสอบต่างๆ ภายในประเทศด้วยการจัดเปรียบเทียบผลการวัดผ่านโปรแกรมทดสอบความชำนาญเพื่อประเมินสมรรถนะของห้องปฏิบัติการ ตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 และผลิตวัสดุอ้างอิงรับรอง (Certified Reference Material, CRM)ในการตรวจสอบความถูกต้อง แม่นยำของวิธีวัด (http://www.nimt.or.th/pt/?fbclid=IwAR3sGbOCH40CcmFx2e4MT 6v3gC9AJwRuP54chWDygLXEYPq9PFMK6WdcOAg) ซึ่งปัจจุบันห้องปฏิบัติการทดสอบด้านอาหารฮาลาลในประเทศไทย ที่ได้เข้าร่วมเปรียบเทียบผลการวัด ผ่านโปรแกรมทดสอบความชำนาญเพื่อประเมินสมรรถนะของห้องปฏิบัติการ ตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 และใช้วัสดุอ้างอิงในการตรวจสอบความถูกต้องได้แก่ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

มว. พัฒนากระบวนการพิสูจน์มาตรฐานที่ทันสมัยและวัสดุอ้างอิงที่สากลยอมรับ

กลุ่มงานวิเคราะห์ชีวภาพ ฝ่ายเคมีและชีวภาพ มว. ให้บริการตรวจวัดการปนเปื้อนของเนื้อหมูด้วยเทคนิค qPCR  และ dPCRการจัดเปรียบเทียบผลการการวัดภายในประเทศ รวมไปถึงการผลิตวัสดุอ้างอิงรับรอง เพื่อใช้ในการตรวจสอบการปนเปื้อนของเนื้อหมูทั้งในกลุ่มของเนื้อสดและกลุ่มอาหารแปรรูป ทั้งในรูปแบบของ DNA solution และ matrix และยังได้มีความร่วมมือกับสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติตุรกี จัดทำการเปรียบเทียบผลการวัดการปนเปื้อนของเนื้อหมูในเนื้อวัวในรูปแบบของอาหารแปรรูปให้กับสถาบันมาตรวิทยาต่างๆ ทั่วโลก (CCQM K86.d/P113.5 Relative quantification of genomic DNA fragments extracted from protein rich matrix) และมีความร่วมมือในโครงการพัฒนาวิธีและผลิตวัสดุอ้างอิงที่ใช้ในการจำแนกเนื้อสัตว์ชนิดต่างๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพและความสามารถให้กับห้องปฏิบัติการทดสอบด้านอาหารในประเทศในการตรวจสอบการปนเปื้อนของเนื้อสัตว์ชนิดต่างๆ เป็นการเพิ่มความมั่นใจทั้งผู้บริโภคภายในประเทศและการส่งออกไปต่างประเทศ