จากการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) พบว่าไวรัสที่ก่อโรคชนิดนี้ (African Swine Fever Virus: ASFV) เป็นไวรัสที่ติดต่อร้ายแรงในสุกรแพร่กระจายในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นโรคที่กำจัดได้ยาก อีกทั้งในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันโรค ในขณะที่เชื้อไวรัสที่ก่อโรคมีความทนต่อสิ่งแวดล้อม และยังเป็นโรคที่สามารถทำให้สุกรที่ติดเชื้อมีอัตราการตายเฉียบพลันเกือบร้อยละร้อย ด้วยสาเหตุดังกล่าวทำให้ประเทศไทยมีความจำเป็นเร่งด่วนในการตั้งรับการแพร่ระบาดของโรคนี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเพิ่มขีดความสามารถในการตรวจวัดปริมาณดีเอ็นเอ ASFV
อย่างไรก็ตาม เทคนิคที่ใช้ในการตรวจหา ASFV ในห้องปฏิบัติการมีความหลากหลาย เช่น การตรวจหาแอนติเจนด้วยวิธีย้อมด้วยแอนติบอดีเรืองแสง (Fluorescent Antibody Test : FAT) จากอวัยวะสัตว์ป่วย การตรวจหาแอนติเจนด้วยวิธี Antigen ELISA การใช้เทคนิค Lateral Flow Assay การเพาะแยกเชื้อไวรัส การหาลำดับสารพันธุกรรม หรือการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสด้วยเทคนิค Polymerase Chain Reaction (PCR) ทั้งแบบดั้งเดิม แบบ quantitative real-time PCR (qPCR) แบบ digital PCR (dPCR) หรือแบบประยุกต์ เช่น เทคนิค LAMP เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคนิค qPCR ได้ถูกนำมาใช้ทั่วไปในห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจสอบหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส เพราะเทคนิคนี้เป็นวิธีที่มีความจำเพาะ และความไวสูง สามารถทราบผลภายใน 2-5 ชั่วโมง
มว. พร้อมให้บริการตรวจวัด ASFV ด้วยเทคนิค qPCR และพัฒนาวัสดุอ้างอิงรับรอง ASFV
สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ผู้ดูแลมาตรฐานการวัดของประเทศไทย มีบทบาทในการพิสูจน์ความถูกต้อง แม่นยำของกระบวนการวัดและพัฒนามาตรฐานให้แก่ห้องปฏิบัติการสอบเทียบ และทดสอบภายในประเทศไปสู่ระดับสากล เล็งเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ของการเข้าร่วมเปรียบเทียบผลระหว่างห้องปฏิบัติการ รวมถึงการใช้วัสดุอ้างอิงรับรอง ซึ่งวิธีนี้เป็นกระบวนการหนึ่งของการควบคุมคุณภาพทั้งจากภายใน และภายนอกนำไปสู่การให้ผลการวิเคราะห์ทางชีวภาพ มีความถูกต้องและน่าเชื่อถือ
ในปี พ.ศ. 2564 กลุ่มงานวิเคราะห์ชีวภาพ ฝ่ายมาตรวิทยาเคมีและชีวภาพ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ได้จัดกิจกรรมการเปรียบเทียบผลการวัดปริมาณดีเอ็นเอเชิงคุณภาพของ ASFV โดยใช้ plasmid ดีเอ็นเอที่มีชิ้นส่วนของดีเอ็นเอไวรัสชนิดนี้ใน 10% suspension จากเนื้อหมู ระหว่างสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ และห้องปฏิบัติการทดสอบโดยใช้เทคนิค qPCR ผลการประเมินพบว่า ห้องปฏิบัติการที่เข้าร่วมเปรียบเทียบผลการวัด ส่งผลกลับมาทั้งหมด 12 ห้องปฏิบัติการ รายงานผลถูกต้องเป็นที่น่าพอใจ นอกจากนี้สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติยังมีความพร้อมในการให้บริการตรวจวัด ASFV ด้วยเทคนิค qPCR และมีแผนจะพัฒนาวิธีการวัด ASFV ด้วยเทคนิค dPCR พัฒนาวัสดุอ้างอิงรับรอง รวมถึงเสนอตัวเป็นผู้จัดเปรียบเทียบผลการวัดในระดับนานาชาติอีกด้วย