ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันพัฒนาการความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไม่ว่าจะเป็น FinTech ของภาคการเงินโดยรวม หรือ InsurTech ของภาคประกันภัย ที่นำมาซึ่งความท้าทายของทุกอุตสาหกรรม ไม่เว้นภาคอุตสาหกรรมประกันภัยที่ต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถก้าวทันนวัตกรรมใหม่ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย ซึ่งหากปรับตัวไม่ทันแล้วก็จะต้องได้รับผลกระทบที่รุนแรง และยากที่จะพลิกฟื้นกลับมาได้อีกครั้ง โดยการเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงนั้นต้องทำในลักษณะช่วยเหลือกันคนละไม้คนละมือ ทั้งบุคลากรประกันภัยไม่ว่าจะเป็นฝั่งของภาคเอกชน และฝั่งของภาครัฐต้องก้าวไปพร้อมๆ กัน ต้องมีการปรับตัวและนำเอาเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดมาใช้ต่อยอดประกอบการทำงานของตนเอง เพื่อช่วยให้การทำงานของทั้งผู้ให้บริการ และผู้รับบริการง่ายขึ้น สะดวกสบายขึ้น ทั้งนี้ นอกจากเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยภาคธุรกิจแล้ว หน่วยงานกำกับดูแลเองก็สามารถนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับกระบวนการกำกับดูแลเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนผู้บริโภคได้ด้วยเช่นกัน
สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเร่งปรับตัวและพัฒนาบุคคลากรให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งสิ่งสำคัญที่คำนึงถึงอยู่เสมอคือ การพัฒนาบุคลากรเพื่อให้มีความรู้ความสามารถและเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรสู่การเป็นองค์กรกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยในยุคดิจิทัล (Digital Insurance Regulator) และคำนึงถึงการรักษาสมดุลระหว่างการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชนด้านการประกันภัยและการส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมดิจิทัลในอุตสาหกรรมประกันภัย
ดังนั้น ระหว่างวันที่ 20 – 23 เมษายน 2561 สำนักงาน คปภ. จึงได้จัดการอบรมสัมมนา “โครงการเสริมสร้างความรู้เพื่อเพิ่มทักษะและประสิทธิภาพการปฏิบัติงานให้แก่บุคลากรสายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค” ซึ่งจัดในลักษณะเข้มข้น (Intensive Course) ใช้ระยะเวลาติดต่อกันถึง 4 วัน ณ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมประกอบด้วยพนักงานสำนักงาน คปภ. ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ
“การอบรมสัมมนาในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นโอกาสอันดี ที่จะได้มอบคัมภีร์สำคัญเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันให้กับพนักงานในการพัฒนาตัวเอง ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 ประการหลัก ประกอบด้วย ประการแรก คือ “รอบรู้” เพื่อพัฒนาตนเองให้เท่าทันภาคธุรกิจประกันภัย เช่น จากเดิมการกำกับดูแลและการตรวจสอบใช้วิธี Manual ตามกฎระเบียบที่กำหนดไว้ ปัจจุบันได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้สะดวกรวดเร็วและรัดกุมขึ้น หรือเรียกกันว่า IT Audit นอกจากนี้ต้องรอบรู้ข้อมูลให้ครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน ทั้งกฎกติกาที่ออกใหม่และที่กำลังปรับปรุง รวมถึงที่อยู่ในระหว่างยกร่างใหม่ขณะนี้ ประการที่สอง คือ “บูรณาการทำงาน” ต้องสร้างเครือข่ายผนึกกำลังและทำงานร่วมกันกับหน่วยงานความร่วมมือซึ่งจะช่วยให้การทำงานประสิทธิภาพและประสิทธิผลรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยที่ผ่านมาจะเห็นตัวอย่างได้ว่า ทั้งการช่วยเหลือประชาชนจากอุบัติภัยรายใหญ่ ทั้งกรณีน้ำท่วมหรืออุบัติเหตุรายใหญ่ในจังหวัดตาก เพียงลำพังบุคลากรในจังหวัดอาจไม่เพียงพอ จึงสั่งการให้จังหวัดใกล้เคียงเข้าไปช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ดังนั้นการบูรณาการทำงานร่วมกันทั้งในสำนักงาน คปภ. บริษัทประกันภัย และหน่วยงานความร่วมมือในจังหวัด จึงช่วยบรรเทาความเดือนร้อนให้กับประชาชนได้อย่างทันท่วงที ประการที่สาม คือ “การนำเสนอและการสื่อความหมาย” พนักงานทุกคน ตั้งแต่พนักงานผู้ปฏิบัติ ซึ่งในอนาคตจะต้องก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารต่อไป ต้องพัฒนาทักษะด้านการสื่อสาร การพูดในที่ชุมชน ตลอดจนการนำเสนอข้อมูลการประกันภัยหรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้แก่ประชาชนหรือหน่วยงานต่างๆ เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องส่งสารให้กับประชาชนได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเข้าใจได้ง่าย ประการที่สี่ “ทักษะในการปฏิบัติงาน” ที่เกิดจากการฝึกฝนและฝึกปฏิบัติ ซึ่งในขณะนี้ สำนักงานได้วางมาตรฐานกลางการทำงานในแต่ละภาคต้องบูรณาการทำงานเป็นทีม สอดคล้องและมีมาตรฐานเดียวกัน โดยผู้อำนวยการภาคจะต้องเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น และประการสุดท้าย “ความเป็นกลางและซื่อสัตย์สุจริต” ซึ่งถือเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการสร้างความเชื่อมั่น น่าเชื่อถือให้กับสำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลที่ทำหน้าที่ผลักดันและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประกันภัยให้มีธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจ” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย