กระทรวงสาธารณสุขเผยสถานการณ์โควิด กทม.ยังสูง พบสถานที่ปิด ร้านอาหารกึ่งผับ หอพักนักศึกษาและแฟลตตำรวจแนวโน้มติดเชื้อสูง ขณะที่กลุ่มสัมผัสผู้ป่วย บุคลากรทางการแพทย์ พบการติดเชื้อเพิ่มขึ้น ร่วม กทม.จัดทีมสุ่มตรวจร้านอาหาร หากไม่ทำตามมาตรฐานอาจถอนใบรับรอง พร้อมกำชับสถานพยาบาลเข้มป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล แนะประชาชนหลีกเลี่ยงสถานที่เสี่ยง
วันที่ 13 มกราคม 2565) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.สุทัศน์ โชตนะพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค แถลงมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 พื้นที่ กทม. ว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อโควิด 8,167 ราย รักษาหาย 3,845 ราย และเสียชีวิต 14 ราย เฉพาะพื้นที่ กทม.รายงานติดเชื้อ 939 ราย เสียชีวิต 3 ราย และรักษาหาย 300 กว่าราย การติดเชื้อกระจายทุกกลุ่มอายุและทุกเขต ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ติดเชื้อสูง คือ
1.พื้นที่เสี่ยงและแหล่งชุมชน คือ สถานที่ปิด ส่วนใหญ่เป็นร้านอาหารกึ่งผับที่มีการระบายอากาศไม่ดี โดยพบผู้ติดเชื้อมากกว่า 5 รายในทุกคลัสเตอร์ และที่เริ่มพบมากขึ้น คือ หอพักนักศึกษาและแฟลตตำรวจที่มีความแออัด
2.กลุ่มที่สัมผัสผู้ป่วยยืนยันหรือพบผู้ป่วยยืนยัน
นพ.สุทัศน์ กล่าวว่า ขณะนี้ กทม.มีการระบาดและแนวโน้มตัวเลขเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง คือ
1.ร้านอาหารกึ่งผับ ซึ่งร้านที่เปิดได้นั้นจะผ่านการประเมินและได้รับใบรับรอง โดยกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับ กทม.จัดทีมเคลื่อนที่เร็ว ลงพื้นที่สุ่มตรวจมาตรฐาน SHA+ และ COVID Free Setting หากเป็นไปตามข้อร้องเรียนจะให้ปิดปรับปรุง แต่ถ้าเกิดเป็นกลุ่มก้อนหรือเกิดซ้ำก็กำลังพิจารณาว่าอาจจะเพิกถอนการรับรองมาตรฐาน
2.กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และด่านหน้า ส่วนใหญ่รับเชื้อจากชุมชนและบุคคลใกล้ชิด ไม่ได้รับเชื้อจากการเข้ารับบริการของผู้ป่วย ส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนเข็ม 3 แล้ว อาการจึงไม่รุนแรง และสถานการณ์ยังไม่ถึงขั้นกระทบการรักษาพยาบาล โดยคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม.ได้ทำจดหมายไปยังสถานพยาบาลทุกแห่งเน้นย้ำให้เพิ่มความระมัดระวังในการดูแลผู้ป่วยสงสัยโควิด 19 เนื่องจากไม่อยากให้มีการติดเชื้อในสถานพยาบาล
3.กลุ่มผู้มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืน อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการติดเชื้อใน กทม.ที่เพิ่มขึ้นมา ยังมาจากผู้อาศัยแถบปริมณฑล เมื่อป่วยแล้วพยายามเข้ามารักษาใน กทม. และบริษัทห้างร้านรอบๆ กทม. ที่มีสัญญาดูแลรักษาสถานพยาบาลเอกชน ก็จะมีผู้ป่วยกลุ่มนี้เข้ามาใน กทม.ด้วย
“คำแนะนำสำหรับประชาชนและผู้ประกอบการ คือ หลีกเลี่ยงสถานที่ระบายอากาศไม่ดี สถานที่แออัด งดร่วมกิจกรรมเป็นเวลานานที่ไม่สวมหน้ากาก เช่น วงเหล้า ชะลอการเดินทางหากไม่จำเป็น หากกลับต่างจังหวัดสังเกตอาการตนเอง 14 วัน ใช้มาตรการทำงานที่บ้าน หากมีอาการสงสัยให้รีบตรวจ ATK และหากผลเป็นบวกให้ประสาน 1330 เพื่อลงทะเบียนเข้าระบบดูแลที่บ้าน (Home Isoaltion :HI) และเร่งไปฉีดวัคซีนทั้งเข็มปกติและเข็มกระตุ้น โดย กทม.เปิดพื้นที่บริการ 20 กว่าจุด ส่วนสถานประกอบการขอให้ทำตาม COVID Free Setting” นพ.สุทัศน์กล่าว