“จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคหัดในประเทศไทยในปี 2564 พบผู้ป่วยจำนวน 178 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 0.26 ต่อแสนประชากร พบผู้ป่วยที่ภาคใต้มากที่สุด จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด ได้แก่ ภูเก็ต (ร้อยละ 3.41) ปัตตานี (ร้อยละ 0.84) และสงขลา (ร้อยละ 0.77 ) โดยกลุ่มอายุที่พบมากที่สุดเป็นกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี (ร้อยละ 54.29)”
“การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้จะมีโอกาสพบผู้ป่วยโรคหัดได้ เนื่องจากในช่วงนี้ในหลายพื้นที่ของประเทศมีอากาศหนาวเย็น ซึ่งโรคหัดเป็นโรคที่พบมากในช่วงฤดูหนาว โรคนี้ติดต่อได้ง่ายผ่านทางเดินหายใจ ด้วยการไอ จาม ในระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา ไข้ ไอ น้ำมูก อาจพบตาแดงร่วมด้วย โดย 3–4 วัน หลังจากเริ่มมีไข้ อาจพบผื่นแดงขึ้นที่ใบหน้า จากนั้นลามไปแขนและขา โดยในผู้ป่วยบางรายสามารถพบภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ สมองอักเสบ เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตได้ โดยมักพบผู้ป่วยในพื้นที่การเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคหัดทำได้ไม่ครอบคลุม โรคนี้สามารถป้องกันได้โดยให้เด็กเล็กรับวัคซีนป้องกันโรคหัด 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเด็กอายุ 9-12 เดือน และให้ซ้ำอีกเป็นครั้งที่สองเมื่ออายุ 1 ปี 6 เดือน กรมควบคุมโรค ขอแนะนำผู้ปกครองควรพาบุตรหลานไปรับวัคซีนตามเกณฑ์ที่กำหนด หากมีอาการไข้ ไอ และผื่น ให้รีบไปพบแพทย์ เมื่อได้รับการวินิจฉัยยืนยันโรคหัด ควรให้เด็กหยุดเรียน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422”
*******************************************************
ข้อมูลจาก : ทีม SAT / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 12 มกราคม 2565