สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 12 ม.ค. 65

+ ประเทศไทยตอนบน อุณหภูมิลดลงมีอากาศเย็นถึงหนาว ส่วนภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่งบริเวณภาคใต้ตอนล่าง

+ ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกปานกลาง บริเวณ จ.ตาก (29 มม.) จ.อุดรธานี (12 มม.) และ จ.นครศรีธรรมราช (10 มม.)

+ ปริมาณน้ำใช้การแหล่งน้ำทั้งประเทศทุกขนาด 36,321 ล้าน ลบ.ม. (63%) ขนาดใหญ่ 29,188 ล้าน ลบ.ม. (61%) เฝ้าระวังน้ำน้อยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 5 แห่ง (เขื่อนแม่กวงฯ แม่งัด ภูมิพล แม่จาง และ สิริกิติ์)

+ คุณภาพน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตร ณ จุดเฝ้าระวัง ในแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน บางปะกง อยู่ในเกณฑ์ปกติ แม่กลอง อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง

+ เฝ้าระวังน้ำทะเลยกตัวสูงบริเวณอ่าวไทย ทำให้น้ำทะเลซัดฝั่งเข้าท่วมพื้นที่ชายทะเล เนื่องจากอิทธิพลของมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรง ส่งผลให้ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย บริเวณ จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และปัตตานี มีน้ำทะเลยกตัวสูงขึ้น 0.3-0.7 ม.

+ กอนช. ติดตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านน้ำ ดังนี้

กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เจาะบ่อเติมน้ำใต้ดินระดับตื้นในโครงการ เติมน้ำใต้ดินระดับตื้น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 บริเวณ บ้านยางตะพาย บ้านทับเกวียนทอง ตำบลบึงบัว อำเภอวชิรบารมี บ้านหนองโสน ตำบลหนองโสน อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร กรมทรัพยากรน้ำบาดาล มีแผนงานก่อสร้างระบบเติมน้ำใต้ดินในพื้นที่จังหวัดพิจิตร 223 แห่ง และจังหวัดกำแพงเพชร 77 แห่ง รวมจำนวน 300 แห่ง พร้อมเจาะบ่อสังเกตการณ์สำหรับใช้ในการติดตามประเมินผลการเติมน้ำใต้ดิน จำนวน 21 บ่อ คาดว่าเมื่อแล้วเสร็จจะช่วยฟื้นฟูระดับชั้นน้ำบาดาล ลดปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วม สามารถใช้แหล่งน้ำต้นทุนในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน

กรมเจ้าท่า ดำเนินการพัฒนาและบำรุงรักษาร่องน้ำภายในประเทศ ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยแผนงานโครงการขุดลอกที่สำคัญในปี 2565 ได้ดำเนินการในร่องน้ำต่าง ๆ ได้แก่ ร่องน้ำสงขลา(ร่องนอก) อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา แม่น้ำโขง บริเวณทางเข้าท่าเทียบเรือเชียงแสนแห่งที่ 2 อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ร่องน้ำบ้านดอน อำเภอเมืองสุราษฏร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ร่องน้ำสมุทรสาคร (ท่าจีน) อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ร่องน้ำปัตตานีและบริเวณที่จอดพักเรือปัตตานี อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี ร่องน้ำปากพนัง อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ร่องน้ำทางเข้าท่าเรือกรุงเทพฯ ร่องที่ 2 อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ และร่องน้ำภูเก็ต (ท่าเรือน้ำลึก) อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต เพื่อฟื้นฟูแม่น้ำที่เสื่อมโทรมให้กลับมาเป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การเกษตร การประมง และการท่องเที่ยว